ไม่พบผลการค้นหา
คุมประพฤติยอดสะสม 3 วันช่วง 7 วันอันตราย 2,807 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,334 คดี

วันนี้ (14 เม.ย.65) วิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถีง สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 3 ของ 7 วันอันตราย (13 เมษายน 2565) มีคดีทั้งสิ้น 1,225 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 1,083 คดี ศาลสั่งติด EM 7 ราย คดีขับรถประมาท 5 คดี คดีขับเสพ 137 คดี สุรินทร์ยังคงครองคดีเมาขับอันดับหนึ่ง 190 คดี รองลงมา กรุงเทพมหานคร 131 คดี และ อุบลราชธานี 123 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีในวันที่ 3 ของ 7 วันอันตรายปี 2564 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 1,398 คดี และปี 2565 จำนวน 1,083 คดี ลดลง จำนวน 315 คดี คิดเป็นร้อยละ 22.53

ในส่วนการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM กับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับมีตัวเลขสะสม 3 วันอยู่ที่ 9 ราย โดยมีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัย ในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00 น. – 05.00 น. เป็นระยะเวลา 7 วัน ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center - EMCC) พร้อมประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ เตรียมพร้อมลงพื้นที่หากมีการผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 

สำหรับยอดสะสม 3 วันของ 7 วันอันตราย (11-13 เมษายน 2565) 2,807 คดี จำแนกเป็น

- คดีขับรถขณะเมาสุรา 2,334 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.15 

- คดีขับเสพ 455 คดี คิดเป็นร้อยละ 16.21

- คดีขับรถประมาท  18 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.64

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ บริเวณจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 78 จุด โดยมีอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย ศูนย์เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ประชาชนและผู้ถูกคุมความประพฤติ เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 1,485 คน ร่วมกันแจกน้ำดื่ม ทำความสะอาด ตรวจวัดอุณหภูมิ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนนอย่างปลอดภัย นอกจากนี้สำนักงานคุมประพฤติได้จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสำนักงานคุมประพฤติช่วงวันหยุดยาว เพื่อให้คำแนะนำด้านกฎหมาย บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว