ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 จะครบรอบ 8 ปี ที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปิดคูหาเพื่อ "ล้มการเลือกตั้ง" เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พร้อมเรียกร้องให้ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" แม้ว่ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาไปเมื่อ 9 ธันวาคม 2556 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตของประเทศด้วยตัวเองตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม เกิดความวุ่นวายในหน่วยเลือกตั้งหลายจุด สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ จนเกิดรัฐประหารในอีก 3 เดือนต่อมา
แม้แกนนำ กปปส. ที่มีคดีติดตัว และศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้อดีตแกนนำ ทั้ง 5 พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและ ส.ส. ไปแล้วในคดีกบฏก็ตาม แต่ก็ไม่อาจชดเชยความเสียหายของประเทศในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาได้แม้แต่น้อย เพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่อ้างว่าเป็น"รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" มีกลไกใหม่ๆไว้จัดการกับนักการเมือง มีการตั้งองค์กรอิสระและคณะกรรมการต่างๆ โดย คสช.ให้ทหารเป็นคนคุมบังเหียน แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อการปราบปรามทุจริตอย่างแท้จริง กลับมุ่งตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ละเว้นการตรวจสอบฝ่ายเดียวกัน แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน อ้างว่ากฎหมายไม่ให้อำนาจ
ชญาภา กล่าวอีกว่า จากวันนั้นเรียกร้องต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ถามหาการเมืองสะอาด ปราศจากคอร์รัปชัน มาถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากหัวหน้าคณะรัฐประหาร สู่นายกรัฐมนตรีที่นั่งบริหารประเทศมาเกือบ 8 ปี เคยประกาศให้ “การทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ” แต่อันดับและคะแนนเฉลี่ยของดัชนีการรับรู้การทุจริตคอรัปชั่นอยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก แย่กว่าปีที่แล้ว และหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหารยึดอำนาจมา พบว่าคะแนนเฉลี่ยของดัชนีการรับรู้ทุจริตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังตกต่ำลงเรื่อยๆ ปีแรกของการยึดอำนาจมา คะแนนลดฮวบจาก 38 เหลือ 35 หากปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศต่อไป ยิ่งอยู่นานการทุจริตคอร์รัปชันยิ่งเบ่งบาน เป็นที่อับอาย ไร้ความน่าเชื่อถือในเวทีโลก
“ล้มเลือกตั้ง ล้มรัฐบาลที่มาจากประชาชน อ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องจมอยู่กับยุคคอร์รัปชันที่เบ่งบานกว่าเก่า นี่ใช่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่เคยเรียกร้องและต้องการหรือไม่ ดังนั้นรัฐประหารจึงไม่ใช่ทางออกของประเทศ ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาตามครรลองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มและซ้ำเติมปัญหาเก่า กฎหมายหลายฉบับที่ถือกำเนิดขึ้นโดยคณะรัฐประหารก็ยังดำรงอยู่ซึ่งไม่สามารถยกเลิกและแก้ได้ กลายเป็นมรดกบาปกัดกร่อนประเทศจวบจนทุกวันนี้” ชญาภา กล่าว