พลันที่สภาผู้แทนราษฎรเสร็จศึกชำแหละ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 แล้ว คิวถัดไปวันที่ 4 มิ.ย. 2563 สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ วงเงิน 88,452.5979 ล้านบาท โดยตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
ซึ่งเดิมทีมีการเคาะวงเงิน ไว้กว่า 100,395 ล้านบาท แต่สุดท้ายหั่น โปะ งบฯ จนเหลือเพียง 8.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นได้ระบุไว้ในหลักการและเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ.ว่า แม้รัฐบาลจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ได้แล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงส่งผลกระทบต่อทั้งประชานและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รัฐบาลจึงมีภารกิจเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา บรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน สังคมและระบบเศรษฐกิจ
"ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ตั้งไว้จำนวน 9.6 หมื่นล้านบาทมีไม่เพียงพอ รวมทั้งอาจมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นจากสถานการณ์ภัยแล้ง หรือสาธารณภัยอื่นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จึงมีความจำเป็นต้องโอนงบประมาณรายจ่ายที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆ ได้รับจัดสรรตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อนำไปใช้จ่ายสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19" นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่สภาฯ เพื่อฟื้นฟูวิกฤตประเทศจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่
ทั้งนี้ จากบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายนั้น ระบุถึงการนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่นำมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 88,452.5979 ล้านบาท เมื่อจำแนกจะพบว่ามีกระทรวงที่มีถูกหั่นงบฯ จากมากที่สุดไปน้อยที่สุด เพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 ดังนี้
1.กระทรวงการคลัง 36,100.58 ล้านบาท
2.กระทรวงกลาโหม 18,022.94 ล้านบาท
3.กระทรวงคมนาคม 11,165.54 ล้านบาท
4.กระทรวงศึกษาธิการ 4,991.79 ล้านบาท
5.กระทรวงมหาดไทย 3,474.2 ล้านบาท
6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,606.27 ล้านบาท
7.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2,537.18 ล้านบาท
8.กระทรวงสาธารณสุข 1,614.8 ล้านบาท
9.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1,447.29 ล้านบาท
10.สำนักนายกรัฐมนตรี 1,322.66 ล้านบาท
11.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกฯ กระทรวงหรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกฯ 1,188.1 ล้านบาท
12.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 849.73 ล้านบาท
13.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 661.92 ล้านบาท
14.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 659.22 ล้านบาท
15.กระทรวงยุติธรรม 542.71 ล้านบาท
16.กระทรวงพาณิชย์ 349.53 ล้านบาท
17.กระทรวงวัฒนธรรม 293.12 ล้านบาท
18.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 245.89 ล้านบาท
19.กระทรวงอุตสาหกรรม 201.99 ล้านบาท
20.กระทรวงการต่างประเทศ 78 ล้านบาท
21.กระทรวงแรงงาน 61.26 ล้านบาท
22.กระทรวงพลังงาน 37.77 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูกจับตาเป็นพิเศษถูกเกลี่ยงบมากเป็นอันดับที่ 2 นั้น
โดยหน่วยงานที่ถูกหั่นมากที่สุดคือ กองทัพบก จำนวน 8,894.95 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 2,341.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ แบ่งเป็นงบประจำ 300 ล้านบาท และงบลงทุนอีก 2,036.78 ล้านบาท
แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบรายจ่ายเกี่ยวกับแผนความร่วมมือทางทหาร ค่าใช้จ่ายในการฝึกผสมอาเซียน ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระวห่างประเทศอาเซียน
แผนยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ วงเงินกว่า 6,283 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ
แผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 250 ล้านบาท
ขณะที่กองทัพเรือ ถูกหั่น 3,941.09 ล้านบาท อาทิ แผนพื้นฐานด้านความมั่นคง การดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ 69.15 ล้านบาท โครงการพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหาร ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกผสมกับต่างประเทศ 57,500,000 บาท
กองทัพอากาศ 3,301.5 ล้านบาท ถูกหั่นงบมากที่สุดในแผนงานยุทธศาสตร์ศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ จำนวนกว่า 3,094.12 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขีดความสามารถกองทัพ
กองบัญชาการกองทัพไทย 1,195.89 ล้านบาท อาทิ ถูกหั่นแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 1,112 ล้านบาท
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 367.43 ล้านบาท
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงร่วมกันจะใช้เวลาอภิปราย 2 วัน ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.นี้ โดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดด้วยการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ซึ่งในวาระขั้นรับหลักการทางวิปรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายเต็มที่
เม็ดเงินในส่วนกระทรวงกลาโหมจึงเป็นหน่วยงานที่คาดว่าจะถูกชำแหละจาก ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน เพื่อนำเม็ดเงินที่ถูกตรวจสอบและหั่นมาใช้สู้กับโควิด-19 ได้อย่างเหมาะสม
ขณะที่ไทม์ไลน์ที่ ร่างพ.ร.บ.นี้จะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายจะอยู่ในห้วงเดือน มิ.ย.นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง