ไม่พบผลการค้นหา
กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ชี้ความสำคัญนโยบายการเงินผ่อนปรนยังสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ขณะจีดีพีปีนี้หดตัวต่ำลงกว่าเดิม ติดลบร้อยละ 8.1 จากเดิมที่มองไว้ที่ร้อยละ 5.3

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 4/2563 ชี้ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ณ เดือน มี.ค.จากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดที่ทำร้ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม กนง.มองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวเริ่มเห็นได้ในครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาจากการที่รัฐบาลในหลายประเทศร่วมถึงไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี อีกทั้งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาทั้งฝั่งนโยบายการเงินผ่อนปรน รวมไปถึงนโยบายการคลังที่ตรงจุด และการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ประชาชนและเอกชนน่าจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้ 

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส-ธนาคารแห่งประเทศไทย-ธปท.
  • นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ -8.1%

ด้านประมาณการตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำปีนี้ กนง.มองไว้ที่ติดลบร้อยละ 8.1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่หดต่ำลงกว่าการประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือน มี.ค.ที่สัดส่วนติดลบ 5.3 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะดีดตัวขึ้นไปเป็นบวกที่ร้อยละ 5.0 ในปี 2564 จากประมาณการเดิมที่มองไว้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น 

ปัจจัยสำคัญที่ทำเศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงต่ำถึงเพียงนี้ นายทิตนันทิ์ ชี้ว่า มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญที่รุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ซึ่งบังคับให้รัฐบาลในหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

ประเทศไทย-เศรษฐกิจ-คนไทย-การลงทุน-เมือง

ด้วยเหตุนี้อุปสงค์ในประเทศทั้งฝั่งการบริโภคและการลงทุนจึงหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ ธปท.ประเมินไว้ ณ เดือน มี.ค.อยู่ที่ติดลบร้อยละ 1.5 ขณะที่ตัวเลขล่าสุดลงไปอยู่ที่ติดลบร้อยละ 3.6 ซ้ำร้ายการลงทุนภาคเอกชน ยังหดตัวหนักลงไปอยู่ที่ติดลบร้อยละ 13.0

ฝั่งการส่งออกสินค้าและบริการรวมไปถึงการนำเข้าก็มีแนวโน้มหดตัวหนักจากการประมาณการครั้งก่อน ลงมาอยู่ที่สัดส่วนติดลบร้อยละ 22.7 และ 18.9 ตามลำดับ อีกทั้ง สถานการณ์ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอาจส่งผลกระทบด้านลบกับการพื้นต้องของเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน เนื่องจากไปบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ

ธปท.png
  • ที่มา: ธปท.

ฝั่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไทยทั้ง ธปท.ลดตัวเลขลงมาอยู่ที่ 8 ล้านคนทั้งปี จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ 15 ล้านคน และสถานการณ์ในปีหน้า ก็จะขยับขึ้นมาเป็นเพียง 16 ล้านคนเท่านั้น 

เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย 4 ปีย้อนหลัง ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสะท้อนว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ไทยไม่เคยมีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่ำกว่า 30 ล้านคน/ปี เลย โดยตัวเลขในปี 2559 อยู่ที่ 32.5 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 35.5 และ 38.1 ล้านคน

ขณะที่ตัวเลขในปีที่ผ่านมาสูงถึง 39.7 ล้านคน และคิดเป็นการสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจประเทศถึง 1,933 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อนำตัวเลขประเมินจาก ธปท.ในปีนี้มาเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2561 จะพบการหดตัวสูงถึงเกือบร้อยละ 80 ของตัวเลขนักชาวต่างชาติเดินทางมาไทย  

สำหรับเสถียรภาพระบบการเงินของไทยในปัจจุบัน ธปท.ย้ำว่าเงินทุนสำรองของธานาคารพาณิชย์ยังมีพร้อม แต่ต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด รวมถึงความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนและครัวเรือน ซึ่ง ธปท.ย้ำว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลนั้นสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง แต่ก็จะดูแลอย่างใกล้ชิด

ท้ายที่สุด ตัวเลขความหวังอย่างการอุปโภคภาครัฐและการลงทุนจากภาครัฐ กลับไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก โดงฝั่งการอุปโภคฯ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในประมาณการเดือน มี.ค.ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.8 ในประมาณการเดือนนี้ ส่วนการลงทุนภาครัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยจากประมารการครั้งก่อน คงไว้ที่ร้อยละ 5.8