ไม่พบผลการค้นหา
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ สถาปนาตัวเป็น 'ดีลเมกเกอร์' มือประสานสิบทิศในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 อย่างเป็นทางการ จนมียศฐาบรรดาศักดิ์ได้เป็นรัฐมนตรี

แต่บัดนี้ “ร.อ.ธรรมนัส” กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตกให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังสื่อออสเตรเลีย Sydney Morning Herald คุ้ยข่าวว่าพัวพันกับคดียาเสพติด From sinister to minister: politician's drug trafficking jail time revealed กลายเป็นประเด็นร้อนทั้งใน - นอกสภา

โดยสื่อออสเตรเลียที่ลงบทความดังกล่าว ระบุว่า ศาลลงโทษจำคุกครบ 4 ปี เมื่อพ้นโทษแล้วถูกเนรเทศกลับเมืองไทย

ในสภา “ร.อ.ธรรมนัส” ชี้แจงกระทู้ของฝ่ายค้าน เมื่อ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาถึงคดีความของตัวเขาว่า

“ผมมีเวลาอยู่นครซิดนีย์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง คดีนี้มันไม่มีคำพิพากษามันเป็นการ Plea Bargaining เด็กตัวเล็กๆจากพะเยาอายุ 24-25 ปี เดินทางไปประเทศออสเตรเลีย ภาษาอังกฤษก็ยังไม่แข็ง ผมจะไปมีปัญญาอะไรเป็นมาเฟียไปบงการคนนั้นคนนี้ค้ายาเสพติด และเมื่อคนไทย 2 คนถูกจับกุม ก็มี 1 คนไปร้องให้ plea-bargaining หรือการลองตัดสินก่อน เพราะไม่มีเงินจะสู้คดี ต้องใช้ทนายอาสาของออสเตรเลีย”

"ผมไม่เคยรับสารภาพว่าผมขนยา ค้ายา หรือนำเข้ายาเสพติด หากเป็นข้อเท็จจริง ไปเอามาเลยว่าผมรับสารภาพตรงไหน ผมชี้แจงมาหลายครั้งแล้ว และยังมาถามอีกว่าติดคุก 8 เดือนหรืออะไร เขาเรียกว่าการ plea-bargain... ผมไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนไต่สวนพยานอะไรเลย ผมถูกกักขังอยู่ 8 เดือน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ plea-bargain ผมก็ถูกส่งตัวไปทำงานที่ฟาร์ม" 

ธรรมนัส

แต่นอกสภา บรรดา “บิ๊ก” ในรัฐบาลต่างโดดหนี โยนให้ “ร.อ.ธรรมนัส” เคลียร์ตัวเอง

เริ่มตั้งแต่เบอร์ 1 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้สิทธิ “เลิกตอบ” กรณีดังกล่าวว่า จะไม่ขอพูดเพราะมีการชี้แจงไปแล้วหลายรอบ ไม่ใช่ว่าใครพูดอะไรมาก็จะมาถามนายกฯ แล้วเอาไปสานต่อ มันก็ไม่จบสักที อะไรที่ชี้แจงไปแล้วก็ถือว่าจบ ตนจะไม่ขออะไรในเรื่องเหล่านี้อีก

“ผมถามว่ารัฐบาลอื่นไม่มีหรือ ก็มีตำหนิกันทุกรัฐบาลนั่นแหละ กฎหมายเขียนไว้อย่างไร กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการทางยุติธรรม หากยังไม่เสร็จสิ้นต้องรอผลตรงนั้น เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ในวันนี้มีขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติ ถ้าผิดก็มีผลย้อนหลังไปทุกเรื่องที่ค้างคาอยู่”

ขณะที่เกจิกฎหมายประจำรัฐบาล - วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ โยนให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนตอบ เพราะความบริสุทธิ์รู้ด้วยตนเอง คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ แต่ที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตรวจสอบคุณสมบัติมาแล้ว ตนก็ถูกตรวจสอบเช่นกัน และเมื่อตรวจคุณสมบัติเสร็จแล้ว ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ และพูดคุยกับตน เนื่องจากเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีรู้จักกัน โดยตนทราบบางส่วน จึงแนะนำเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้เชิญร.อ.ธรรมนัสมาชี้แจง ซึ่งนำหลักฐานมาแสดงแล้วในชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ก.ค. 2562 ก่อนโปรดเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี “วิษณุ” เคยให้สัมภาษณ์กรณี ร.อ.ธรรมนัสไว้ชัดเจนกระจ่างแจ้งว่า มันจะไม่มีผล เคยต้องคดีนั้น คดีนี้ แต่ความประพฤติ ทุจริต มาตรฐานจริยธรรมก็อีกเรื่องหนึ่ง ในอดีตเคยมี ส.ส.ขนยาเสพติดเข้าฮ่องกงไม่มีผลกระทบต่อในส่วนของไทย แต่กระทบชื่อเสียง เกียรติยศ อาจเป็นข้อห้ามอีกอย่างหนึ่ง แต่เอาข้อหา ข้อหาอาจจะตรงกัน แต่ศาลไทยไม่ได้เป็นคนตัดสิน

รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ระบุคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีว่า ต้องไม่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ  หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน”

วิษณุ

แต่ปัญหาในกรณีนี้ตามที่ “วิษณุ” ส่งสัญญาณเมื่อ 10 ก.ค. 2562 ว่า หากไม่ตัดสินโดยศาลไทย อาจไม่เข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้าม?

กระนั้น อาจจะไปเข้าข่ายขัดมาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ที่บังคับใช้กับองค์กรอิสระ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รวมถึงคณะรัฐมนตรี

ในหมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 17 ระบุว่า ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง

และข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่  

จึงน่าคิดว่ากรณีของ “ร.อ.ธรรมนัส” อาจสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายขัดมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่

พลิกไปสำรวจหมวด 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในข้อ 27 ระบุว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรง ของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น

ประธาน ปปช สุภา วัชรพล ทุจริต 076591.jpg

องค์กรที่จะทำหน้าที่ว่า ใครกระทำขัดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจ ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวย ผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดําเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เท่ากับว่า ป.ป.ช.จะชี้ขาด....ก่อนส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  

ขณะเดียวกันในทางตำแหน่งทางการเมือง ฝ่ายค้านยังสามารถใช้ 2 ช่องทาง ด้วยการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่ง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส

หรือ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อ เสนอให้ประธานสภาผู้เเทนราษฎร ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หมายความว่า ที่สุดแล้วเรื่องคุณสมบัติอาจจะต้องหาข้อยุติที่ศาลรัฐธรรมนูญ 

นอกจากนั้น “ร.อ.ธรรมนัส” ต้องลุ้นกรณีที่สื่อออสเตรเลียแฉว่าพัวพันคดียาเสพติดในอดีต ยังต้องเจอเรื่องวุฒิการศึกษาปริญญาเอกเป็นของปลอม 

ร.อ.ธรรมนัส อยู่ในตำบลกระสุนตก  

แถมยังตกใส่รัฐบาล ประยุทธ์ 2/1 เข้าอย่างจัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง