พอทางการประกาศปุ๊บว่าจะเลิกขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขต กทม. สายตุนก็เลิกตุนไข่ปั๊บ หันมาตุนเบียร์ตุนเหล้ากันเฉย ขนาดเซเว่นแถวบ้านฉันยังมีคนหอบเบียร์ใส่ถุงผ้าเหมือนให้ฟรี แน่นอนว่าเหล้าไม่อิ่ม แต่ดูเหมือนขาดไม่ได้ เพราะพี่ไทย "งานสุข งานเศร้า งานเหล้าต้องมา" ไม่แปลกนักที่เหล้าจะกลายเป็นสินค้าที่ "ขาดไม่ได้" มาตั้งแต่อดีต
อย่างที่รู้กันว่าบ้านเราเป็นเมืองพุทธมีการปลูกฝังว่าเหล้าเป็นสิ่งไม่ดีมาโดยตลอด ในการบรรยายอย่างยืดยาวในพระอรรถกถา มีหลายบทหลายตอนที่ระบุว่าเหล้าคือที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งก็ถูก เพราะเหล้าทำให้สติขาดๆ เกินๆ หากกินมากเกินไป และในที่สุดก็กลายเป็น "บาป" ตกนรกไปต้องกินน้ำในกระทะทองแดง
แม้เป็นบาป ก็คงเป็นบาปที่หอมหวาน เพราะปรากฎว่าในยุคกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านร้านตลาดก็โปรดปรานเครื่องดองของเมาหนักหนา โดยราชทูตฝรั่งเศส "ลา ลูแบร์" ให้เหตุผลที่คนสยามชอบกินเหล้าเอาไว้ว่า "...เพราะในประเทศร้อนนั้น การบ่อนทำลายจิตใจอยู่เนืองนิจทำให้คนเราประสงค์สิ่งที่ทวีแรงเมาให้หนักยิ่งขึ้น..." ไม่รู้เป็นเหตุเป็นผลตรงไหน แต่ที่แน่ๆ ชาวสยามเรามีเหล้ากินหลายชนิด แบ่งเป็น 3 อย่างตามบันทึกลา ลูแบร์ คือ (1)
- เหล้าองุ่น แม้บ้านเราจะไม่มีองุ่นแต่เราก็ได้หมด โดยเหล้าพวกนี้ชาวอังกฤษและฮอลันดานำเข้ามาจากเมืองชีราช ในเปอร์เซีย หรือมาจากยุโรป เช่น เมืองบอร์กโดซ์ ฝรั่งเศส
- เหล้าจากพืชตระกูลปาล์ม คือ "ตารี" (Tari) ทำจากมะพร้าวป่าพันธุ์หนึ่ง และ "เนรี" (Neri) ทำจากต้นหมากชนิดหนึ่ง มีวิธีทำคือ "...ในตอนเย็นๆ ก็เอามีดไปปาดกาบต้นไม้ที่คอต้นใกล้ยอด แล้วเอาขวดผูกรองไว้คะเนให้ปากขวดชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลางทีก็เอาดินเหนียวล้อมยาไว้เพื่อมิให้อากาศเข้า รุ่งเช้าขวดนั้นก็เต็ม ขวดที่ว่านี้ตามธรรมดาก็ใช้กระบอกไม้ไผ่ลำเขื่องๆ ปล้องนั้นคือก้นกระบอก เครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้อาจทำในเวลากลางวันก็ได้เหมือนกัน แต่ว่ากันว่ามันมีรสเปรี้ยว และใช้กันเป็นน้ำส้มสายชู..."
- เหล้าทำจากข้าว พวกโปรตุเกสเรียกว่า "อารัก" (Arak) ลา ลูแบร์บอกว่าชาวสยามชอบเหล้าชนิดนี้กันสุดๆ แถมบอกว่า "ยิ่งแรงยิ่งชอบ" ซึ่งอารักที่ว่าภาษาบ้านๆ เราก็คือ "เหล้าโรง" นั่นเอง
ในหลายอารยธรรมเหล้าเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวย เพราะถ้าไม่เหลือกินเหลือใช้ คงเอาพืชพรรณธัญญาหารมาหมักเหล้าไม่ได้ อีกนัยหนึ่งเหล้าจึงเป็นตัวแทนความฟุ่มเฟือย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องภูมิปัญญาของสังคมเกษตรด้วย
สำหรับ "อารัก" หรือเหล้าโรง ถือเป็นตัวแทนของเมืองข้าวขนานแท้ ในหนังสือ "เรื่องเล่ากรุงสยาม" ของมงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ บอกว่าเครื่องดื่มของคนสยามนอกจากน้ำเปล่า น้ำชา ก็น้ำเหล้านี่แหละ โดยวิธีทำอารัก หรือเหล้าโรง ต้องเริ่มจากการทำข้าวหมาก (ในบันทึกเรียก "ขนมหมัก") โดยเอาข้าวเหนียวไปนึ่ง โรยแป้งเชื้อที่ประกอบด้วยขิงและเครื่องเทศอื่นๆ แบ่งใส่ห่อใบตอง เมื่อครบ 24 ชม.ข้าวจะออกหวานคล้ายเหล้าองุ่น จากนั้นเอาลงต้มกลั่นจะได้เหล้าโรงขนาด 9-10 ดีกรี และหากเอาไปกลั่นอีกรอบ ก็จะได้เหล้าโรงชั้นดี
ปาลเลกัวซ์บอกว่าเหล้าโรงมี "ชาวจีน" เป็นผู้ผูกขาด ซึ่งเห็นจะไม่เกินจริง เพราะระบบเจ้าภาษีนายอากรยุคนั้นอะไรๆ ก็มีคนจีนเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐเสมอ แต่อากรเหล้าดูจะหอมหวานแย่งกันประมูลเป็นอันดับต้นๆ เพราะสร้างรายได้มหาศาล ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีบันทึกว่าสยามมีรายได้จาก "สัมปทานโรงต้มกลั่นสุรา" ถึง 500,000 บาท ขณะที่อากรนาซึ่งเป็นอาชีพหลักเลี้ยงผู้คนทั้งราชอาณาจักร ทำรายได้ราว 2 ล้านบาท มากน้อยกว่ากันเพียง 3 เท่าตัว (2)
ด้วยเม็ดเงินยั่วยวนใจ การแข่งขันตัดหน้าประมูลผูกขาดภาษีเหล้าจึงเป็นไปอย่างดุเดือด เช่น ในกรณีของเตาสุรากรุงเก่า (อยุธยา) มีเอกสารระบุว่า "คนชาวกรุงเก่าขายเข้า (ข้าว) ได้มากก็ซื้อสุรากินมากขึ้น อากรเตาสุรามีกำไรจึงมีผู้คิดอ่านจะประมูลอากร" (3) โดยเจ้าภาษีเดิมคือ "ขุนโสภณเพ็ชร์รัตน" ส่งเงินให้หลวงปีละ 200 ชั่ง ต้องแข่งขันช่วงชิงกับ "จีนเฉีย" ที่เสนอเงินมากกว่า จนได้รับเลือกเป็นผู้ผูกขาดเตาสุรากรุงเก่าคนใหม่ในที่สุด
ขณะที่คนอีกไม่น้อยไม่แข่งตามกระบวนการ แต่กระโดดลงสู่สังเวียนต้มเหล้าเถื่อนซะเลย และโดยมากก็มักจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น กรณีกลุ่มจีนเมืองราชบุรี - นครชัยศรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตั้งตัวเป็นแก็งค์ต้มเหล้าเถื่อน แถมทำร้ายร่างกาย จับคนเรียกค่าไถ่ จนกรมการเมืองต้องไปปราบปราม (4) บ้างก็วิวาทเรื่องเหล้าเถื่อนถึงขนาดยิงกันตาย
"...จีนเหล็ก จีนเกาจุน หลงจู๊โรงสุรามาขอกรมการไปจับน้ำสุรา ได้จัดให้ขุนศรีเสนากรมการไปกำกับ ครั้นแล้วกรมการกับหลงจู๊จับจีนชง อำแดงอ้าย ปืนกระบอก ๑ เครื่องต้มสุราและสุราเถื่อนมาแจ้งความว่า หลงจู๊กรมการพากันไปถึงวัดด้งเป็นที่ป่ารก ได้ยินเสียงปืนนัด ๑ แล้วเห็นจีน ๒ คนวิ่งหนีถือปืนด้วย หลงจู๊กับพวกไล่จับได้ตัวจีนชง และเกิดวิวาทตีแทงยิงกันกับพวกจีนชง กระสุนปืนพวกจีนชง ถูกนายยงขาดใจตาย ถูกนายพ่วง นายเอี่ยมบาดเจ็บ พวกจีนชงหนีเข้าไปในโรงจีนเสี้ยมเกิดวิวาทกัน กรมการห้ามหาฟังไม่ พระยากาญจนบุรีได้ถามจีนชงอำแดงอ้ายให้การรับว่ารับจ้างจีนซุยหงวน จีนซาเนีย ต้มน้ำสุราจริง จึงได้ให้กรมการไปชัณสูตรที่วิวาท ได้ความว่าจีนซำหยงถูกปืนตายในที่วิวาท จีนหลงจู๊และจีนเสี้ยมต่างคนต่างฟ้องกันเป็นความฉกรรจ์อยู่ เป็นการขัดข้องที่จะพิจารณาจึงส่งความเข้ามากรุงเทพฯ" (5)
แม้เป็นรายได้หลักอย่างที่บอกไปข้างต้น แต่ทางการมักโชว์ความเป็นเมืองพุทธด้วยการสั่งอาณาประชาราษฎร์ห้ามขายเหล้า-กินเหล้าเสมอ โดยมากมักเป็นไปเพื่อ "การบุญ" เช่น สมัยรัชกาลที่ 2 มีพระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา "ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตวตัดชีวิตรเสพสุราเมรัยใน 3 วัน" (6) ขณะที่ช่วงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มีประกาศห้ามขายสุรา (7) ไม่ต่างจากปัจจุบันที่วันสำคัญทางศาสนาก็มักจะงดขายเหล้าเช่นกัน
แต่บางครั้งการห้ามขายก็เป็นไปได้ยาก ต้องไปจัดการที่ตัวคนกินแทน เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการออกประกาศจัดการคนเมาช่วงสงกรานต์
"...เปนเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณยามตรุษยามสงกรานต์ผู้ชายโดยมาก เปนนักเลงบ้างมิใช่นักเลงบ้าง พากันเสพสุราเมามายไปทุกหนทุกแห่ง แล้วก็ออกเที่ยวเดินไปในถนนแลซุกซนเข้าไปในวัดวาอาราม ก่อถ้อยความวิวาทชกตีแทงฟันกัน
...แต่นี้ไปเวลาตรุษแลสงกรานต์ ให้เจ้าของบ้านเอาใจใส่ระวังรักษาหน้าบ้านของตัว ถ้ามีคนเมาสุรามาเอะอะอื้ออึงที่หน้าบ้าน ก็ให้จับเอาตัวมาส่งกรมพระนครบาลที่หน้าหับเผย ให้ทันเวลาที่ผู้นั้นยังเมาอยู่อย่าให้ทันส่างเมา แต่ห้ามไม่ให้พวกบ้านอื่นๆ มาพลอยกลุ้มรุมจับด้วย ถ้าคนเมามีพวกมากต่อสู้เจ้าของบ้าน ถึงเจ้าของบ้านจะชกตีมีบาดเจ็บก็ดี ถ้าเมื่อจับตัวไปส่งกรมพระนครบาลๆ ชันศูจน์รู้แน่ว่าคนนั้นเมาจริงก็ให้เจ้าของบ้านเปนชนะ
...อนึ่งในยามตรุษยามสงกรานต์นั้น ผู้ใดจะเสพย์สุราเมามากก็ให้อยู่แต่ในบ้านเรือนของตัว ถึงจะมีที่ไปก็ให้งดรอต่อส่างเมาแล้วจึงไป" (8)
สำหรับการงดขายเหล้าครั้งล่าสุดนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการบุญอีกต่อไป แต่เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ส่วนหนึ่งคุณหมอหลายๆ คนบอกว่า เหล้าทำให้ภูมิตก ง่ายต่อการที่ไวรัสจะบุกร่างกาย อีกเรื่องคือการกินเหล้าเมาแอ่น อาจเป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุเลือดตกยางออก เดือดร้อนห้องฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ที่ตอนนี้ก็งานล้นมือกันอยู่แล้ว
นี่น่าจะเป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่บ้านเรา "ห้ามขายเหล้าเพราะโรคระบาด" สำหรับคนที่ซื้อไปตุนแล้วก็ขอให้กินแต่พอประมาณ มีสติมากๆ เพื่อเก็บชีวิตเอาไว้กินเหล้าในปีอื่นๆ ด้วย
อ้างอิง
(1) เดอ ลา ลูแบร์, จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548, หน้าที่ 80-81.
(2) ปาลเลกัวซ์, เล่าเรื่องกรุงสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 4), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552, หน้าที่ 207.
(3) https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่-๔-ภาค-๔/๑๐๕-ประกาศเรื่องอากรเตาสุรากรุงเก่า
(4) https://vajirayana.org/จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน-ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-พุทธศักราช-๒๔๓๔/เดือน-๕-จุลศักราช-๑๒๕๓
(5) https://vajirayana.org/จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน-ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-ภาค-๑๙/เดือน-๘-จุลศักราช-๑๒๔๗
(6) https://vajirayana.org/พระราชพงษาวดาร-กรุงรัตนโกสินทร-รัชกาลที่-๒/๕๐-พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
(7) https://vajirayana.org/พระราชพงษาวดาร-กรุงรัตนโกสินทร-รัชกาลที่-๒/๕-พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
(8) https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่-๔-ภาค-๔/๑๐๗-ประกาศเรื่องคนเสพสุราเมาในวันสงกรานต์