นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงขั้นตอนการทำงานของ กกต. หลัง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า สำนักงาน กกต.จะเสนอพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ประกาศกำหนดวันรับสมัคร กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าภายในระยะเวลา 5 วัน
จากนั้นประธาน กกต.จะลงนามแต่งตั้ง กกต.เขต ผู้อำนวยการเขต ซึ่งผู้อำนวยการเขตจะมีหน้าที่ประกาศสถานที่รับสมัครในแต่ละเขตของตัวเอง จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรับสมัคร โดยผู้อำนวยการเขตจะทำหน้าที่รับสมัครภายในระยะเวลา 5 วัน เมื่อรับสมัครเสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเริ่มเข้าสู่การหาเสียงตามเบอร์ที่ได้รับ
นายณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า หลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วจะคุมเข้มเรื่องการหาเสียงมากขึ้น การนำเสนอนโยบายต้องเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายส.ส. นโยบายใดที่ต้องใช้เงินต้องแสดงให้เห็นว่าเงินงบประมาณที่จะทำนำมาจากที่ใด รวมถึงผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้น
ส่วนการติดโปสเตอร์ คัตเอ้าท์โฆษณาเสียงของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ติดอยู่ตามสถานที่ต่างๆต้องเก็บออก และปฏิบัติตามระเบียบที่กกต.กำหนดว่าสามารถติดป้ายโฆษณาหาเสียงได้ ณ จุดใด สถานที่ใด ซึ่งรวมถึงจะต้องหยุดหาเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐด้วย เพื่อรอให้กกต.ประชุมจัดสรรเวลาการหาเสียงให้ ซึ่งจะมีการประสานและแจ้งไปยังพรรคการเมืองต่างๆอีกครั้ง ทั้งนี้ขอให้ว่าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองต่างๆศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวก้บระเบียบและประกาศของ กกต.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่การหาเสียงทางสื่อโซเชียลมีเดียหลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งนั้น นายณัฏฐ์ กล่าวหา ยังหาเสียงได้ตามปกติ โดยหากต้องการหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลฯประเภทใด ต้องไปแจ้งกับผู้อำนวยการจังหวัดในกรณีของผู้สมัคร และแจ้งต่อเลขาธิการ กกต.ในกรณีบัญชีรายชื่อ ส่วนผู้สนับสนุนที่หาเสียงผ่านโซเชียลฯอาจต้องพิจารณาว่าจะคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง