ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แนวคิดแพลตฟอร์ม “Thaiflix” เป็นการส่งเสริมสร้างทางเลือก ขยายโอกาสธุรกิจหนังไทย ด้านประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ยกระดับการต่อรองเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้เอกชนจัดการ หากรัฐทำเองจะเละ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงถึงแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มไทย “Thaiflix” เป็นช่องทางขึ้นมาแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ว่า เป็นแนวคิดที่ตนได้แนะนำในระหว่างการจัดประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน "How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era" เพื่อให้อุตสาหกรรมธุรกิจในหลายๆประเภทได้มีทางเลือกในการแข่งขัน และหาโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ

ซึ่งแพลตฟอร์มของไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะคนไทยมีความคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ ทำให้รายได้จากการใช้แพลตฟอร์มไหลนั้นออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้นหากมีแพลตฟอร์มของไทยใช้เองจะมีข้อดี จึงยกตัวอย่างอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ทั้งละคร ภาพยนต์ เกมโชว์ และสารคดีของไทยที่ดีๆ มีมากมาย

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวเสริมว่า เรามีของดีในมือมาก ละคร หนัง เกมโชว์ต่างๆ แต่โดยปกติเราใช้ประโยชน์ครั้งเดียว เสร็จแล้วก็จบไป จึงยกตัวอย่างแพลตฟอร์มในลักษณะนี้อย่างเน็ตฟลิกซ์ ที่รวบรวมภาพยนตร์และละครจากหลายประเทศมารวมกันให้คนเข้าถึงสะดวกในการใช้งาน จึงคิดว่าคอนเทนต์หนังและละคร ไทยมีเยอะ เราจึงควรส่งเสริมให้เกิดการรวบรวม โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำแพลตฟอร์มกลางให้เอกชนเอาคอนเทนต์มาใส่ และไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนสามารถเปิดดูได้ ตอนนี้คนไปดูในยูทูบซึ่งก็เป็นคอนเทนต์หนึ่ง แต่บางทีเจ้าของหนังหรือละครไม่ได้อะไรเลย เม็ดเงินโฆษณาก็หายไปมาก 

ซึ่งการนำมารวมกันตรงนี้ก็คล้ายๆ กับเน็ตฟลิกซ์ที่ทำให้คนไทยได้ชม และเนื้อหารายการบางอย่างที่มีคอนเทนต์ดีๆ ก็สามารถนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ แต่คำว่า Thaiflix ยังไม่มีใครตั้ง เป็นเรื่องของแนวคิด การพูดเปรียบเทียบให้คนเห็นภาพและเข้าใจง่ายว่าถ้าไทยมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ตอนนี้เป็นแค่แนวคิด การที่จะผลักดันให้แนวคิดเกิดขึ้นได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการของธุรกิจนั้นๆ กลุ่มลูกค้าหรือผู้ที่จะมาใช้บริการ แต่เนื่องจาก ก็ไม่สามารถที่จะไปต่อได้

ส่วนกระแสตำหนิต่างๆ ตนคิดว่าการที่จะทำสิ่งใด ควรต้องมีแผนรองรับ ดูยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ ก็ไม่รับฟัง แต่ถ้ายุคสมัยเปลี่ยนแล้วเราไม่คิดจะทำอะไรเลย เมื่อถึงเวลาแล้วเราจะปรับไม่ทัน ตนจึงโยนแนวคิดนี้ออกมา ซึ่งถ้ามีคนสนับสนุนและมีคนสนใจก็จะดำเนินการต่อ เพราะเราก็รับฟังทุกคน

ทีดีอาร์ไอแนะให้เอกชนทำ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา 'เปลี่ยนโฉมกลยุทธศาสตร์ Soft Power สร้างอำนาจใหม่ให้ประเทศไทยสู่โลกหลังโควิด-19' ที่จัดขึ้นโดยบริษัท เทคซอส มีเดีย ว่า คอนเทนต์ภาพยนตร์ของไทยจำนวนมากที่เป็นที่นิยมของคนจีน แต่พอนำไปขายในประเทศจีนกลับสร้างรายได้ได้ต่ำมาก เนื่องจากอำนาจในการต่อรองของไทยมีอยู่น้อย

กรณีที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องการจะสร้างแพลตฟอร์ม Thailflix เพื่อรวบรวมคอนเทนต์บันเทิง แท้จริงแล้วในมุมหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ แต่ก็ย้ำว่า กระบวนการพัฒนาแพลตฟอร์มควรถูกผลิตขึ้นมาจากฝั่งเอกชนเป็นหลักและมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินเท่านั้นพอ 

"สายการผลิตต้องดีจริง การตลาดต้องเก่งจริง ถ้ารัฐบาลทำเองมันจะเละ เอาเงินไปให้เอกชนทำดีกว่า" ดร.สมเกียรติ กล่าว 

ประธานทีดีอาร์ไอย้ำว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตและพร้อมในการเติบโตในยุคข้างหน้านั้น ภาพลักษณ์หรือซอฟต์เพาเวอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ก็ต้องมีฮาร์ดเพาเวอร์ มีองค์ความรู้จริงๆ มีของที่มีคุณภาพจริงๆ เอาไว้ต่อสู้กับผู้ต่อสู้คนอื่น และสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่โฆษณาออกไปอย่างเดียวว่าดีแต่สุดท้ายแล้วไม่เป็นแบบนั้น ในระยะยาวก็จะยืนระยะไม่ได้


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :