พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวถึงกรณีการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. ที่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไปว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเข้มงวด ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้การชุมนุมอาจจะมีการกระทำความผิดข้อหาอื่นๆ เช่น การปิดการจราจร การใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีการกระทำอื่นใดที่เกิดให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุนในเขตกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่มีการเริ่มชุมนุมมาถึงวันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 299 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 196 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 103 คดี จึงขอเตือนประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมว่า การชักชวนไม่ว่าด้วยช่องทางใด ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิด และจะได้รับโทษตามกฎหมาย เพราะถือเป็นการร่วมกระทำผิดด้วย โดยจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้ที่รับจ้างขนส่งมาร่วมชุมนุม ส่วนที่มีการชักชวนกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทางตำรวจนครบาลก็จะส่งข้อมูล และประสานงานกับทางกองบัญชาสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชักชวนด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการตั้งสิ่งกีดขวาง บริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพบว่ามีการตู้บรรทุกนำมันมาวางกั้นร่วมกับตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พล.ต.ต.ปิยะ ระบุว่า เป็นการติดตั้งเพื่อป้องกันเหตุร้าย หรือเหตุการณ์ที่อาจจะลุกลามบานปลาย ซึ่งมีการตั้งในพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น และขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางทั้งหมดแล้ว สำหรับประเด็นเรื่องเครื่องกีดขวางที่เป็นถังน้ำมัน ซึ่งไม่มีน้ำมันอยู่ภายใน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลนำมาเป็นเครื่องกีดขวางกลุ่มผู้ชุมนุม ขอชี้แจงว่า ผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีความปลอดภัย ซึ่งการจะใช้อุปกรณ์ได้เจ้าหน้าที่จะต้องมีการตรวจสอบและประเมิน และขอให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัยเพราะหากตู้น้ำมันดังกล่าวไม่มีความปลอดภัย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
"ก็ขอให้มั่นใจว่า เครื่องกีดขวางอยู่กับตำรวจ และได้มีการตรวจสอบเรียบร้อยว่าไม่เป็นอันตราย ถ้าเป็นอันตรายพวกผมอยู่ใกล้ก็เรียบร้อยอยู่แล้ว"
ส่วนกรณีตำรวจที่ถูกยิงด้วยปืนไทยประดิษฐ์ ลักษณะคล้ายปืนอัดลมนั้น ตอนนี้เจ้าหน้าที่ปลอดภัยแล้ว แต่หากกระสุนเข้าไปถึงหลอดลม และทำให้หลอดลมฉีกขาดก็อาจจะถึงแก่ชีวิต ส่วนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นทราบว่ามีรถยนต์ของทางราชการเสียหายทั้งสิ้น 7 คัน รถจักรยานยนต์ 4 คัน ป้อมยามตำรวจอีก 3 แห่ง นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินของประชานในระแวกที่มีการชุมนุมได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน และขณะนี้ได้พิสูจน์ทราบตัวบุคคลหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแล้ว
“พูดง่ายๆ ก็เหมือนลอบกัด เพราะว่าตัวเจ้าหน้าที่บาดเจ็บนั้น อยู่ระหว่างพักคอย ซึ่งเรามีหลักฐานบางอย่างแล้วว่ามีการใช้อาวุธปืนไทยประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าชัดเจนจะมีการออกหมายจับเร็วๆ นี้”
“ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ท่านมีความห่วงใย ท่านให้ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง และใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อย แม้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ไม่ใช่อุปกรณืในการควบคุมฝูงชน เป็นเพียงอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง และป้องกันเหตุร้าย และเป็นอุปกรณ์สากลที่ทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และทำให้ตำรวจมีความปลอดภัย และคงจะมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตามมาตรฐานสากลอีก เพื่อให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายมากยิ่งขึ้น”
ส่วนกรณีที่ มีสำนักข่าวพยายามยื่นฟ้องต่อหน่วยงานให้มีการคุ้มครอง เกี่ยวกับยุทธวิธีในการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมของตำรวจ โดยการใช้กระสุนยางนั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลย้ำว่า ตำรวจพร้อมทำตามคำสั่งของศาล แต่เวลานี้ ศาลยังไม่มีคำสั่งใดออกมา ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจยืนยันว่า กระทำการตามกฎหมายทุกประการ