สภาเมืองนิวยอร์กรับรอง Climate Mobilization Act ชุดของร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน OneNYC 2050 สะท้อนวิสัยทัศน์เมืองนิวยอร์กในปี 2050 โดยมีจุดหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ภายในปี 2030 และ 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050 ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Green New Deal ของยุโรป
ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ การคมนาคมเป็นที่มาสำคัญของก๊าซเรือนกระจก ทว่าสำหรับนครนิวยอร์ก อาคารต่างๆ กลับเป็นต้นตอหลัก ในปี 2015 นั้น 67 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกในนิวยอร์กมาจากการใช้พลังงานของอาคารภายในเมือง ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งล้านหลัง
ร่างกฎหมายใหม่นี้จะกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารต่างๆ ในนครนิวยอร์ก บังคับให้อาคารที่พื้นที่เกินกว่า 25,000 ตารางฟุต ซึ่งมีจำนวนกว่า 50,000 หลัง ต้องหาทางปรับสภาพอาคารเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยเพดานการปล่อยก๊าซและค่าปรับหากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ได้จะต่างไปตามขนาดของอาคาร
สำหรับอาคารอาคารที่พักอาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ที่สร้างใหม่หรือมีการปรับปรุงครั้งใหญ่อยู่จะต้องเป็นอาคารหลังคาเขียว (green roof) กล่าวคืออาคารเหล่านั้นจำเป็นต้องปลูกต้นไม้ปกคลุมพื้นที่ดาดฟ้า ติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือกังหันลม
มาตรการหลังคาเขียวซึ่งเป็นมาตรการที่มีการบังคับใช้กันมาก่อนแล้วในหลายเมือง เช่น โทรอนโต ซานฟรานซิสโก เดนเวอร์ และพอร์ตแลนด์ จะช่วยบรรเทาปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (urban heat island effect) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในเมืองใหญ่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพื้นผิวของอาคารต่างๆ ปิดกั้นความร้อนจากพื้นดินไม่ให้แผ่ขึ้นสู่ท้องฟ้าในเวลากลางคืน ทำให้อากาศเย็นลง และลดการใช้พลังงานภายในอาคารไปด้วย
"ในวันนี้เราได้ผ่านร่างกฎหมายที่ไม่เพียงเปลี่ยนให้ขอบฟ้าของเมืองสวยขึ้น แต่ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนิวยอร์กในอีกหลายรุ่นต่อๆ ไป ด้วย" ราฟาเอล เอสปินัล (Rafael Espinal) สมาชิกสภาเมืองนิวยอร์ก ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น อาคารที่สร้างใหม่จะถูกห้ามไม่ให้ใช้โครงสร้างที่มีผนังภายนอกเป็นกระจก เว้นแต่ว่าจะเป็นกระจกอินซูเลทหรือกระจกฉนวนกันความร้อน เพื่อให้การใช้พลังงานปรับอากาศภายในอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น การลดการซื้อภาชนะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง การมุ่งหน้าเปลี่ยนให้การดำเนินงานของรัฐใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน 100 เปอร์เซ็นต์ คาดกันว่าเมื่อรวมผลลัพธ์จากมาตรการต่างๆ แล้ว จะทำให้นิวยอร์กลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวมกับมาตรการอื่นๆ ที่ได้มีการดำเนินการแล้วโดยคณะเทศมนตรีชุดก่อนๆ ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 (เมื่อเทียบกับปี 2005)
ชุดของร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการรับรองแล้วโดยสภาเมืองนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ที่ 22 เหลือเพียง การลงนามโดยบิล เดอ บลาซิโอ (Bill de Blasio) นายกเทศมนตรีนิวยอร์กเท่านั้น โดย เดอ บลาซิโอ เองมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด
"เรากำลังจัดการกับผลประโยชน์เดียวกับที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพอากาศและทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เราไม่มีเวลาจะเสียอีกแล้ว เราต้องลงมือตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป" เดอ บลาซิโอ กล่าว
อ้างอิงจาก: