ไม่พบผลการค้นหา
‘ณัฐชา’ เผยเตรียมถกปรับปรุงกฎหมายเด็กพรุ่งนี้ รับไม่ได้ ตร.ให้ท้าย มีส่วนทำให้เกิดคดี ‘ป้าบัวผัน’ เป็นวิกฤตศรัทธาวงการตำรวจ โยนคำถามสังคมทำผิดฆ่าคนตายเกินกว่าเด็กหรือไม่

วันที่ 17 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี ‘ป้าบัวผัน’ ที่มีเยาวชนเป็นผู้กระทำผิด โดยระบุว่า เรื่องนี้ในสังคมรับรู้รับทราบดีว่าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นหลายครั้ง ซึ่งผู้กระทำผิด เป็นลูกของเจ้าหน้าที่ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ก็จะเกิดการให้บุคคลที่ 3 ที่มีฐานะยากจนรับโทษแทน ครั้งนี้ก็เป็นเหตุน่าสะเทือนใจ โดยเฉพาะการที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่น่ากระทำความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่าคดีจะมีความคืบหน้าอย่างไร 

ส่วนสิ่งที่สังคมสงสัยคือโทษที่เด็กได้รับ โดยกระทรวงยุติธรรมแต่โยนมาให้สภาฯแก้กฎหมาย ณัฐชา กล่าวว่าการที่ลดโทษให้เด็กลง หรือการให้เข้าสถานพินิจ เพราะกฎหมายมองว่าเด็กอาจจะทำความผิดครั้งแรก ไม่ได้มีความตั้งใจหรือวางแผนตระเตรียม เพื่อไปกระทำความผิด จึงไม่อยากให้ตราบาปที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นตราบาปไปตลอดชีวิต จึงมีช่วงอายุในการรับโทษขึ้นมา ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์กรณีที่รุนแรงขึ้น จนเกิดการถึงแก่ความตายของบุคคลที่ 2 หรือ3 แน่นอนว่าผู้เสียหายก็ไม่ยอม ที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษน้อยลง

" ในตัวบทกฎหมายเราให้โอกาสเด็ก แต่ในการให้โอกาสนั้น ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าวันนี้สิ่งที่เด็กกระทำมีความผิดเทียบเท่าผู้ใหญ่แล้วหรือยัง การฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยการรุมทำร้ายหรืออะไรต่างๆ แน่นอนว่าเกินกว่าเหตุ เกินกว่าความเป็นเด็กไปมาก เราก็อาจจะรับไม่ได้" ณัฐชากล่าว

ณัฐชา ยังกล่าวว่าโดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อาจจะมีการช่วยเหลือให้ท้าย หรือปล่อยปละละเลย จนทำให้เกิดเหตุขึ้นหรือเป็นพฤติกรรมแวดล้อมที่ คนในครอบครัวกระทำเป็นประจำทำให้เกิดการเลียนแบบ จนทำให้เด็กคิดว่าตนเองจะไปทำอะไรก็ได้ เช่น ไปจับโจร ไปตามล่าผู้ที่มากลั่นแกล้งตนเอง โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อกฎหมาย 

ส่วนที่หลายคนมองว่าเด็กไม่ควรได้รับสิทธิ์คุ้มครองแบบนี้ มีโอกาสที่จะยกเว้นในกรณีนี้หรือไม่ ณัฐชา ยกตัวอย่างกรณีที่ทำให้ถึงแก่ความตาย และเกิดความเสียหายต่อสังคมเป็นวงกว้าง เราอาจจะส่งนักจิตวิทยาไปช่วยสืบหาข้อเท็จจริงก็ได้ ว่าเด็กกลุ่มนี้มีการกระทำเช่นนี้เป็นประจำหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงอาจจะเกิดมาก่อนหน้านี้แต่ไม่เป็นคดี เช่น ยกพวกทะเลาะวิวาท ก่อนจะทำให้คนเสียชีวิต และแน่นอนว่าผู้เสียหายไม่ยอมต่อเรื่องนี้

"เราอาจจะเห็นในสังคม เวลาเกิดเหตุแรงๆขึ้น ก็จะเห็นการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ไปจับคนวิกลจริตมา บอกว่าเป็นโรคจิต แม้กระทั่งไปจับเด็กมา เด็กที่อยู่ในครอบครัวโดดเดี่ยวและยากจน เพื่อให้ได้รับโทษที่น้อยลง ซึ่งมีกระบวนการช่วยเหลือกันแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นสังคมต้องยอมรับได้แล้ว เมื่อมีกลุ่มคนใดคนหนึ่งที่บทลงโทษน้อยกว่า แต่เป็นการกระทำความผิดแบบเดียวกัน เช่น ฆ่าคนตายเด็กรับโทษแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่คนวิกลจริตรับอีกแบบหนึ่ง ก็จะมีกระบวนการช่วยเหลือ" ณัฐชากล่าว

ณัฐชา ยังย้ำว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ดังนั้นผู้มีสิทธิ์ส่วนเกี่ยวข้องทุกคนไม่ควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ และกรณีนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างให้เราหยิบยก เรื่องเหล่านี้มาพูดเสียที หากเกิดเหตุจนเสียชีวิต โทษของเด็กจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่าต้องปฏิรูปองค์กรตำรวจด้วยหรือไม่ ณัฐชากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลายครั้งหลายกรณี เรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่ตำรวจไม่สามารถสร้างความชอบธรรมและความมั่นใจให้กับประชาชนได้ การที่ช่วยคนใดคนหนึ่ง แต่ทำลายความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจทั้งองค์กร แบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และ พี่น้องตำรวจ 200,000 นายทั่วประเทศเขาไม่ได้รับรู้รับทราบด้วยทำให้หมดศรัทธาไปด้วย ดังนั้นขอให้นึกว่าท่านยังมีเพื่อนตำรวจอีก ที่ต้องรับกับสถานการณ์ไปด้วย

ณัฐชา ยังกล่าวว่า พรุ่งนี้จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในชั้นกรรมาธิการของตนเอง และอาจจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กมาหารือร่วมกัน ถ้าไปถึงการแก้กฎหมายเราก็จะหยิบยกไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่าตอนนี้เทรนด์ทวิตเตอร์ ติดอันดับ 1 ว่า #ยกเลิกกฎหมายเยาวชนนั้น ณัฐชา กล่าวว่า ก่อนจะยกเลิกจนเชื่อว่ายังมีหลายคน ได้โอกาสตรงนี้เมื่อครั้งที่กระทำความผิด หรือพลาดพลั้งในวัยเด็ก เพื่อไม่ให้เป็นตราบาปไปตลอดชีวิตก็ยังมีหลายคนที่ได้รับประโยชน์จากการกระทำที่เกินกว่าเหตุแบบนี้เราต้องแยกออกไป ถ้าเราไปยกเลิกเลยยังมีเด็กอีกหลายคน ที่ทำผิดแค่ลหุโทษ ไม่ได้ตั้งใจไม่ได้รุนแรง จะโดนหางเลขไปด้วย