ไม่พบผลการค้นหา
แนวปะการังแอมะซอนซึ่งถูกค้นพบในทะเลใกล้เฟรนช์กีอานาและบราซิลเมื่อปี 2016 ตกเป็นเป้าของกลุ่มทุนบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ต้องการเข้าสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ แต่ 'กรีนพีซ' ชี้ การขุดเจาะเพื่อสำรวจแหล่งเชื้อเพลิงใต้น้ำเสี่ยงทำลายแนวปะการังและเส้นทางอพยพของสัตว์น้ำจำนวนมาก

เรือ 'เอสเปอรันซา' ซึ่งเป็นเรือสำรวจขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอย่าง 'กรีนพีซ' เพิ่งค้นพบแนวปะการังแอมะซอนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครสำรวจพื้นที่ดังกล่าวจริงจัง เพราะเป็นจุดที่อยู่ติดกับน่านน้ำของ 'เฟรนช์กีอานา' จังหวัดโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีอาณาเขตติดกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล

จนกระทั่งกลุ่มกรีนพีซล่องเรือสำรวจเส้นทางอพยพของสัตว์น้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจึงพบว่า พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำแอมะซอน ที่มาบรรจบกับทะเลเชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ คือแนวปะการังขนาดใหญ่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเส้นทางผ่านที่สำคัญของบรรดาสัตว์น้ำต่างๆ จำนวนมาก จึงเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า 'แนวปะการังแอมะซอน' (Amazon Reef)

สาเหตุหลักที่ระบบนิเวศบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก เพราะเป็นจุดที่ตะกอนปากแม่น้ำแอมะซอนมาทับทมอยู่อย่างหนาแน่น จึงเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยชั้นดีของสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงแนวปะการังขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายอย่างมาก

หลังจากนั้นไม่นาน กรีนพีซก็ได้ร่วมมือกับนักดำน้ำและนักชีววิทยาทางทะเล สำรวจรายละเอียดของแนวปะการังแอมะซอนแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาประเมินว่า พื้นที่ของแนวปะการังและดอกไม้ทะเลน่าจะกินอาณาเขตประมาณ 9,500 ตารางกิโลเมตร ทั้งยังสัตว์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วาฬหลังค่อม วาฬเพชฌฆาตแปลง ฉลามทราย เต่าทะเลยักษ์ โลมา ปลากระโทงร่ม รวมถึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของนกทะเลสายพันธุ์ต่างๆ

แต่ล่าสุด กรีนพีซเตือนว่าแนวปะการังแห่งนี้กำลังเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากกลุ่มทุนน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกหลายบริษัทที่ต้องการสำรวจหาแหล่งน้ำมัน เพราะเมื่อปี 2017 บริษัทน้ำมันบีพีของอังกฤษประเมินว่าใต้ทะเลบริเวณดังกล่าวน่าจะมีน้ำมันอยู่มากกว่า 14,000 ล้านบาร์เรล และพยายามยื่นขอประมูลสัมปทานแปลงสำรวจน้ำมันใกล้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ทั้งจากฝั่งรัฐบาลเฟรนช์กีอานาและรัฐบาลบราซิล

AFP-โลมา-แนวปะการังแอมะซอน.jpg
  • แนวปะการังแอมะซอนเป็นที่อยู่ แหล่งอาหาร และเส้นทางอพยพของสัตว์น้ำจำนวนมาก

นอกเหนือจากบริษัทบีพีแล้วก็ยังมีกลุ่มทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานอื่นๆ รวมถึง โททาลและเปโตรบราส แต่ก่อนหน้านี้ในปี 2018 สำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของบราซิลได้ปฏิเสธคำร้องของโททาลไป โดยให้เหตุผลว่าแผนรับมือและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของบริษัทนี้ไม่รัดกุมเพียงพอ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากการขุดเจาะน้ำมันที่กระทบส่วนอื่นๆ ของบราซิลว่าเป็นเพราะบริษัทน้ำมันไม่มีมาตรการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม กรีนพีซมองว่า รัฐบาลเฟรนช์กีอานาอาจพิจารณาเรื่องสัมปทานแปลงสำรวจแหล่งน้ำมันในทะเลแก่บริษัทต่างชาติเร็วๆ นี้ เพราะเฟรนช์กีอานาก็ต้องการรายได้เพิ่มในงบประมาณบริหารจัดการตัวเอง หากมีการอนุมัติขึ้นมาเมื่อไหร่ แนวปะการังทางทะเลจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 

นักสิ่งแวดล้อมย้ำว่า กิจกรรมขุดเจาะเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ใต้น้ำ และก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนจำนวนมหาศาลที่ถูกจะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ หรือถ้าเกิดกรณีฉุกเฉิน น้ำมันรั่วไหลจากการขุดเจาะและสำรวจใต้ทะเล จะส่งผลให้สัตว์น้ำและแนวปะการังแอมะซอนที่อยู่ใกล้เคียงถูกทำลายได้ และไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลาในการฟื้นฟูนานเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้สัตว์น้ำและปะการังสูญหายไปจากบริเวณนี้เลยก็ได้

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่กรีนพีซออกมาเตือนก็คือว่า การลงทุนด้านพลังงานและการเกษตรของประเทศแถบอเมริกาใต้ช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะเหตุขุดเจาะน้ำมันแล้วเกิดระเบิด น้ำมันรั่วไหลทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเหตุไฟป่าที่ลุกลามยืดเยื้อนานนับเดือนที่บราซิล ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในหลายประเทศข้างเคียง 

สื่อต่างชาติรายงานอ้างอิงกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ระบุว่า ถ้าหากรัฐบาลเฟรนช์กีอานาและบราซิลจะพิจารณาอนุมัติการลงทุนด้านพลังงานเพิ่มเติม จำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียด และควรจะศึกษาผลกระทบให้รอบด้านกว่านี้ เพราะการป้องกันนั้นง่ายกว่าและใช้งบประมาณน้อยกว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและควบคุมไม่ได้

ที่มา: Aljazeera/ Euronews/ Mongabay/ Phys