เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงเหตุผลระหว่างสมาชิกที่เห็นว่าการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำได้ในสมัยประชุมรัฐสภานี้ได้หรือไม่เพราะเป็น ญัตติที่ตกไปแล้ว เว้นแต่เป็นญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 และมีอีกฝ่ายคือ 8 พรรคการเมืองที่นำโดยพรรคก้าวไกล เห็นว่าการเสนอชื่อ พิธา ไม่เป็นญัตติ และยังสามารถเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซ้ำได้อีก
ภายหลังจากการประชุมและอภิปรายยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง ประธานรัฐสภาได้สั่งให้มีการลงมติในประเด็นดังกล่าวเมื่อเวลา 17.03 น. โดยมีสมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม 715 คน
โดยผลการลงมติปรากฎว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากเห็นว่าการเสนอชื่อ พิธา คือญัตติ และไม่สามารถเสนอชื่อ พิธา ซ้ำได้ ด้วยคะแนน 395 ต่อ 317 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อ พิธา เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกในสมัยประชุมรัฐสภานี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกรัฐสภา 317 เสียงที่ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการห้ามเสนอชื่อพิธาให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบเป็นนายกฯ ซึ่งประกอบไปด้วย 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล จำนวน 308 เสียง และส.ว. 8 เสียง คือ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ , พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง , เฉลา พวงมาลัย , ซากีย์ พิทักษ์คุมพล , ประภาศรี สุฉันทบุตร , พิศาล มาณวพัฒน์ , มณเฑียร บุญตัน และ วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
มีเพียงพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่ได้ลงมติ
โดย ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีจำนวน 499 คน โดยพิธาถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีอยู่จำนวน 249 คน
สำหรับพรรคการเมืองและ ส.ว.ที่ลงมติเห็นด้วย 395 เสียงไม่ให้เสนอชื่อ พิธา เป็นนายกฯ ในสมัยประชุมรัฐสภานี้ ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 70 เสียงพรรคพลังประชารัฐ 39 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 23 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง ขณะที่ ส.ว. 211 คนลงมติเห็นด้วย
สำหรับ งดออกเสียง 8 เสียงมาจา พรรคประชาธิปัตย์ 2 เสียง คือ ชวน หลีกภัย , บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ มี ส.ว. 6 เสียง คือ กิตติ วะสีนนท์ , ขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา, พีระศักดิ์ พอจิต , สมพล เกียรติไพบูลย์ และ อำพล จินดาวัฒนะ
โดยวันมูหะมัดนอร์ ประธานรัฐสภาไม่ได้ใช้สิทธิลงมติในที่ประชุม เช่นเดียวกับศักดิ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย , สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ และ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ส.ว. ไม่ได้ลงมติ ทั้งนี้มี 24 ส.ว.ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้