พชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามขายฝันว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายได้ 4% โดยตีปี๊บว่าจะดีนั้น อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้หัดบวกเลขให้เป็นโดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ -6.1% ปีนี้น่าจะขยายได้ประมาณ 1% เท่านั้นทั้งที่ตอนต้นปีก็บอกเหมือนกันว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4% แต่สิ้นปีเหลือเพียง 1% ซึ่งปีหน้าถ้าขยายได้ 4% จริง เมื่อรวมกับปีนี้ก็ยังน้อยกว่าที่ตกลงมา แสดงถึงประเทศไทยรัฐถอยหลังและอยู่กับที่มา 3 ปีติดกันในขณะที่ประเทศอื่นขยายตัวแล้วก้าวกระโดดไปแล้ว เช่นประเทศสหรัฐปีที่แล้ว ติดลบ -3.5 % แต่ปีนี้จะขยายตัว 5.5% ประเทศจีนปีที่แล้วไม่ติดลบแถมขยายตัวได้ 2.3% ปีนี้อาจจะโตถึง 8% อีกทั้งเวียดนามปีนที่แล้วก็ไม่ติดลบโดยบวกได้ 2.91% ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4 % ในขณะที่ไทยยังไม่กลับคืนที่เก่าเลย ประชาชนถึงได้ลำบากขัดสนกันอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับโวว่าเป็นผลงานทั้งที่ยังติดลบ
นอกจากนี้สถานการณ์เงินเฟ้อของโลกที่กำลังพุ่งขึ้นสูงโดยในสหรัฐคาดกันว่าปีนี้จะมีเงินเฟ้อสูงถึง 6% ซึ่งคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดกันไว้ ในขณะที่ธนาคารอังกฤษได้ขึ้นดอกเบี้ยแล้วเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ประเทศตุรกีที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจกลับลดดอกเบี้ยผลคือเงินเฟ้อยิ่งพุ่งกระฉูด ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องตามสภาวการณ์ของโลกให้ทัน หากไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลงไปอีก และหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะมีภาระมากขึ้น โอกาสเกิดหนี้เสียพอกพูนก็จะมากขึ้นด้วย
ปัญหาเงินเฟ้อของโลกนอกจากจะเกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตไวรัสโควิดแล้ว ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่ขาดแคลนก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้น การขาดแคลนชิปชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การผลิตรถยนต์ การผลิตโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีปัญหาอย่างมากและต้องล่าช้า แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง แอปเปิล โตโยต้า หรือฮอนด้า ก็ประสบปัญหานี้ นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนก็เป็นปัญหาใหญ่ รวมถึงปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวัน ที่อาจจะเป็นชนวนของความขัดแย้งของโลกครั้งใหม่ได้ อีกทั้งยังมีปัญหาโลจิสติกส์ที่ระบบการขนส่งขาดแคลนและมีราคาแพงโดยเฉพาะการขนส่งทางทะเล
ปัญหาความขาดแคลนชิปชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าต่อเนื่องเช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ฯลฯ รวมถึงปัญหาโลจิสติกส์ ผลคือประเทศที่ผลิตสินค้าต่างๆ ต้องการจะสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งหมดภายในประเทศเองเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนในอนาคต อีกทั้งไต้หวันเองอาจจะต้องย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงจากความขัดแย้งกับจีน จึงเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของประเทศไทย หากไทยสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภายในประเทศได้ ไทยก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนาต่อไป
“นี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวของไทยที่จะ สร้าง ตำแหน่งของตัวเอง ให้เป็น Hi-Tech Manufacture hub แห่งใหม่เพื่อเสริม เซินเจิ้น ซึ่งกำลังจะถึงจุดอิ่มตัวและ ประสบปัญหาภาพรวมทางการเมืองระหว่างประเทศ”
แต่ถ้าหากไทยตกขบวน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย“และหากเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ยึดตำแหน่งนี้ไปได้แล้ว” ประเทศไทยก็จะยากลำบากในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ ยังไม่รู้เรื่องหรือยังไม่เข้าใจ พรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะเร่งทำเรื่องนี้หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า