นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
โดยการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สนับสนุนโรงพยาบาลดำเนินการ "จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าที่บ้านทางไปรษณีย์" ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 มาตรการเพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมติบอร์ด สปสช.
ปัจจุบันมีหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทองทั่วประเทศ เข้าร่วมจัดบริการส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วจำนวน 349 แห่ง มีหน่วยบริการทุกระดับทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกเอกชน โดยพื้นที่เขต 13 กทม. มีหน่วยบริการที่เข้าร่วมจัดบริการมากที่สุด 32 แห่ง รองลงมาคือ ชลบุรี 15 แห่ง นครศรีธรรมราช 14 แห่ง และขอนแก่น 13 แห่ง เป็นต้น
ทั้งนี้หน่วยบริการ กทม.ที่เข้าร่วมจะต่างจากพื้นที่อื่น ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเวชกรรมที่เข้าร่วมโครงการบัตรทองมีจำนวน 20 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 แห่ง ขณะที่จังหวัดอื่นๆ หน่วยบริการที่เข้าร่วมจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน
"การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าที่บ้านทางไปรษณีย์ เป็นโครงการเฉพาะกิจในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ สปสช.ดำเนินการตามข้อเสนอโรงพยาบาลและกรมการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วย โดยใช้งบประมาณจากกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2563 สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งในอัตรา 50 บาท/ครั้ง นอกเหนือจากงบกองทุนกรณีโควิด-19 จำนวน 4,280 ล้านบาท โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)" เลขาธิการ สปสช. กล่าว