ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกรัฐบาลเผย 'ประยุทธ์' ปลื้ม หลายดัชนียืนยันช่วงโควิด 'ไทย' มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก

วันที่ 13 ต.ค. 2564 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงของการระบาดของโควิดที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่รายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข หรือมีการจัดอันดับหลายแห่งที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาทิ ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด มหาวิทยาลัย John Hopkins และองค์กร Nuclear Threat Initiative รายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ เมื่อปี 2019 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

"ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมากที่สุด" ธนกรกล่าว 

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นิตยสาร CEOWorld Magazine นิตยสารสำหรับแวดวงธุรกิจได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับดัชนีระบบบริการสุขภาพ ประจำปี 2021 (Health Care Index) โดยไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 13 จาก 89 ประเทศทั่วโลก หรือเป็นอันดับที่ 4 ของทวีปเอเชีย (รองจาก เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น ตามลำดับ) และเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน ด้วยคะแนน 59.52

"ทั้งนี้ ไทยมีความโดดเด่นที่สุดในเรื่อง ความพร้อมของยาที่จะให้บริการ และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบบริการสุขภาพ" ธนกรกล่าว 

ธนกรกล่าวอีกว่า ดัชนีระบบบริการสุขภาพ มีปัจจัยที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์หลักๆ 5 ปัจจัย โดยไทยได้รับคะแนนในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้ ได้แก่

1)โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ (Infrastructure) ได้รับ 98.7 คะแนน

2) บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข หรือ Professionals) ได้รับ 29.05 คะแนน

3) ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปี (Cost) ได้รับ 94.99 คะแนน 

4) ความพร้อมของยาที่ให้บริการ (Medicine Availability) ได้รับ 98.74 คะแนน

และ 5)ความพร้อมของรัฐบาล (Government Readiness) ได้รับ 96.1 คะแนน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ร่วมกันอีก ได้แก่ สภาพแวดล้อม, การเข้าถึงน้ำสะอาด, สุขอนามัย, การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษจากความเสี่ยง อาทิ การใช้ยาสูบ และโรคอ้วน

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณและชื่นชมบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เอาใจใส่ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานและประโยชน์สุขของประชาชน ส่งผลให้มีเสียงสะท้อนที่ดีจากพัฒนาการ และความพร้อมของระบบบริการสุขภาพของไทย ซึ่งรัฐบาลได้วางนโยบายด้านสุขภาพ และเตรียมความพร้อมเพื่อสุขภาพอนามัยในการดำรงชีวิตที่ดีของประชาชนไทย" ธนกรกล่าว 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายสาธารณสุข ที่มุ่งพัฒนา “ระบบบริการสุขภาพ” อาทิ ยกระดับระบบบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิและ อสม. ให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน พัฒนาระบบบริการสุขภาพขั้นทุติยภูมิ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพในกลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ และประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง พร้อมเชื่อมั่นว่า ผลจากการจัดอันดับ ดัชนีระบบบริการสุขภาพ ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)” ภายในปี 2569 เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพในเชิงการท่องเที่ยว ต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ