ไม่พบผลการค้นหา
'ทิพานัน' ย้อน 'อนุสรณ์' โฆษกพรรคเพื่อไทย ตกข่าว ไม่รู้ 'ประยุทธ์' เตรียมตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นระบบ รวดเร็วตาม 'ศบค.โมเดล' แนะฝ่ายค้านใจกว้าง อย่าใส่ร้ายรายวัน เหน็บไม่ใช่รัฐบาลกู้มาโกงเหมือนในอดีต ขณะที่ผลโพลชี้ ปชช.ร้อยละ 61.15 ยังไม่พอใจ รบ.แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คง พ.ร.ก. ฉุกเฉินแต่ทำงานเหมือนไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินและยังจี้ให้เร่งออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า นายอนุสรณ์น่าจะตกข่าว ไม่สนใจทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลก่อนวิจารณ์ จึงไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีรูปแบบการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับศูนย์การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ขึ้น โดยจะมีนายกฯเป็นประธาน ซึ่งความรวดเร็วฉับไว ทันสถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างฉุกเฉิน เร่งด่วน จึงต้องการให้ศูนย์นี้ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ด้วยความเป็นเอกภาพและบูรณาการเช่นเดียวกับ ศบค. 

“นอกจากนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ซึ่งถือเป็นยาแรงในการช่วยเศรษฐกิจฐานรากแล้ว และยังมีการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ผู้ประกอบการและแรงงานในระบบ รวมถึงมาตรการการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า พักการชำระหนี้ต่างๆ ในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ต่อมาเมื่อมีการผ่อนคลาย รัฐบาลจึงดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสภาพการแพร่ระบาดของโควิดด้วย อาทิเช่น มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุดจากการท่องเที่ยวภายในระเทศ, มาตรการช่วยผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) โดยค้ำประกันปล่อยกู้วงเงินรวม 4.5 หมื่นล้านบาทและปรับเงื่อนไขกองทุน 5 หมื่นล้านเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้เสียของ SMEs ด้วย ทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ก็ลงพื้นที่นำข้อมูลปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน นำเสนอสู่พรรคเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งทุกอย่างยึดโยงกับปัญหาปากท้องของประชาชนทั้งสิ้น

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า รู้สึกผิดหวังที่โฆษกพรรคเพื่อไทยไม่ได้ตระหนักถึงเหตุผลในการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ ว่าเป็นไปเพื่อบังคับใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นใจ ในการรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตของประชาชน และยังเป็นไปตามข้อเรียกร้องขององค์การอนามัยโลก ที่ให้ประเทศต่างๆ คงมาตรการเข้มงวดในเรื่องนี้

น.ส.ทิพานันระบุว่า จากการลงพื้นที่เป็นประจำ ได้สอบถามประชาชนทั่วไปก็จะบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไร จากการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โฆษกพรรคเพื่อไทยยังคงนำเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาประดิษฐ์วาทกรรมชี้นำสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปพร้อมๆกับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ต้องการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำและต้องโปร่งใส  

"รัฐบาลตั้งใจที่จะกอบกู้เศรษฐกิจ ให้ฟื้นกลับคืนมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมมานานเป็นภาระประชาชนมาหลายปี ที่ถูกวิจารณ์ว่ากู้มาโกง ก่อนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาบริหารประเทศ ฉะนั้นการดำเนินการต่างๆต้องรัดกุมและมีคำตอบให้กับประชาชน จึงอยากให้ฝ่ายค้านใจกว้าง ในการวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่จับเอาประเด็นมาพูดโจมตีใส่ร้ายป้ายสีให้เป็นข่าวรายวัน ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน "น.ส.ทิพานัน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร? กับกระแสข่าวการปรับ ครม.” กลุ่มตัวอย่าง 1,269 คน สำรวจระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2563 พบว่า ผลงานของรัฐบาลที่เข้าตาประชาชนมากที่สุด คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร้อยละ 50.80 แต่ผลงานที่ยังไม่พอใจ/ต้องปรับปรุง คือ "การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ" ซึ่งมีผู้ตอบว่ายังไม่พอใจสูงถึงร้อยละ 61.15

ส่วนการเทียบยอดเงินกู้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจในตำแหน่งนายกฯ ตลอด 6 ปีมีเงินกู้ เป็นหนี้สูงถึง 3.399 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 เท่า

https://scontent.fbkk8-4.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/s960x960/95495155_10160363416199848_700586393784549376_o.jpg?_nc_cat=100&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeG5rrmhF1dfDfEY8tTBxMUHDGK7Ja1FkhQMYrslrUWSFOq-4qK2qsfR08BoNshnhImNriUs4jkjxYVQxOKAYH3r&_nc_ohc=dIidoXaTxWwAX9cVOBs&_nc_ht=scontent.fbkk8-4.fna&_nc_tp=7&oh=54728dccfe7e0006b24f0aa004a45cbc&oe=5F2F5E7D
  • รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มียอดเงินกู้จากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ปี 2558 จำนวน 250,000 ล้านบาท

ปี 2559 จำนวน 390,000 ล้านบาท

ปี 2560 จำนวน 390,000 ล้านบาท

ปี 2561 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปี 2562 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 469,000 ล้านบาท + พ.ร.ก.กู้เงินแก้ปัญหาโรคโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท

รวม 6 ปี มีการกู้เงิน จำนวน 3,399,000 ล้านบาท

  • รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มียอดเงินกู้จากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ปี 2557 จำนวน 250,000 ล้านบาท

ปี 2557 ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. (กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ) โมฆะ (ศาล รธน. ชี้ขัด รธน. )

ปี 2556 จำนวน 300,000 ล้านบาท

ปี 2555 จำนวน 400,000 ล้านบาท + พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ จำนวน 350,000 ล้านบาท

รวม 3 ปีมีการกู้เงิน จำนวน 1,300,000 ล้านบาท

อ้างอิง - สำนักงบประมาณ (เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณในแต่ละปี )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: