นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) พร้อมด้วย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแถลงข่าวกรณี 90 ส.ศ.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าชื่อร่วมกันเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากมี ส.ส.ลืมบัตรประจำตัวส.ส.และปรากฏลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะที่ไม่ได้อยู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
โดยนายวิรัช ระบุว่า ตนและ ส.ส. เห็นว่าอาจทำให้กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ตนและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจำนวน 90 คนได้เข้าชื่อเพื่อนำส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 4 ประเด็นคือ 1.กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 120
2.หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จะถือว่าร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตกไปทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทน และถือว่าการตราร่าง พ.ร.บ. ไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.หากร่าง พ.ร.บ. ตกไปทั้งฉบับ หรือตกไปเฉพาะมาตรา ต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยขั้นตอนหลังจากนี้คือยื่นหนังสือต่อประธานสภาฯ และรอไว้ 3 วันก่อนที่จะยืนต่อนายกรัฐมนตรีและรอไว้ 5 วันก่อนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่มีภาพของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเสียบบัตรแทนกันนั้น นายวิรัช กล่าวว่า เมื่อวาน (21 ม.ค.) ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ ตนก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าต้องอยู่ในที่ประชุมตลอดเวลา ส่วนในภาพใครเสียบบัตรแทนใคร และเป็นการลงมติในประเด็นไหน ตนยังไม่ทราบ เมื่อถามว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ตนยังไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะราย ต้องดูว่าใครเป็นคนทำผิดและบัตรเป็นของใคร
'วิษณุ' โยนสภาตรวจสอบ รับกฎหมายล่าช้า
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเปิดเผยว่า มีการลงคะแนน หรือเสียบบัตรเเทนกันของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นเรื่องสภา จึงต้องให้สภาไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องดูว่ามีการใช้สิทธิของการเสียบบัตรโหวตลงคะแนนถูกต้องหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ทำให้โมฆะหรือไม่ ตนมองว่าการกระทำผิดในเรื่องเสียบบัตรแทนกันเป็นเรื่องที่สภาต้องตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมา เคยเกิดคล้ายกับกรณีดังกล่าวที่เคยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในปี 2556 และ 2557 ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีการกระทำเสียบบัตรแทนกัน แต่รายละเอียดของทั้งสองไม่เหมือนกัน ต่างกันในข้อกล่าวหาอื่นๆ
ขณะเดียวกัน นายวิษณุ ยังกล่าวด้วยว่า หากมีข้อสงสัย ก็ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ส.ส. รวบรวมรายชื่อ ส่งเรื่องให้ประธานสภาฯ เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนญ เพื่อวินิจฉัย ส่วนการที่กฏหมายจะมีความเป็นโมฆะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมติในการลงคะแนนว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ในเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะต้องดำเนินการตามมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ ต้องมีการพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน แต่หากการพิจารณาไม่เสร็จ ให้ถือว่าแล้วเสร็จ รวมถึงการที่สมาชิกวุฒิสมาชิกได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฏหมาย ภายใน 20 วัน
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่สามารถบอกได้ ว่าผลจะเป็นอย่างไร ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และต้องส่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยอมรับว่าส่งผลกระทบ เมื่อรับเรื่องไปจะทำให้การใช้งบประมาณ ปี 2563 เกิดความล่าช้า แต่ไม่ถึงขั้นวิบัติ แต่ช้าแน่ๆ แต่จะไม่ส่งผลกระทบงบประมาณที่ต้องใช้เป็นประจำ เช่น เงินเดือน เนื่อจากรัฐธรรมนูญระบุไว้ให้ใช่งบฯ เก่าไปพลางๆก่อน ซึ่งงบลงทุน อาทิ โครงการทำถนน รัฐบาลจะไม่แตะต้องเรื่องนี้สำนักงบประมาณได้เตรียมการไว้แล้ว รอจนกว่าจะวินิจฉัยเสร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง