ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านมาแล้วกว่า 10 เดือน นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้าทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางการคว่ำบาตรและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของโลกซีกประชาธิปไตย ต่อบทบาทของอาเซียน โดยเฉพาะไทยกับการจัดการวิกฤตสิทธิมนุษยชนของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี คำสัญญาต่อการเปลี่ยนผ่านกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยของกองทัพเมียนมายังคงไม่มีความชัดเจนมากนัก

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเซีย และเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “10 เดือนหลังการเปลี่ยนแปลงพม่า: สถานการณ์ ผลกระทบและบทบาทรัฐไทย อาเซียนต่อความมั่นคงในภูมิภาค” โดยในงานเสวนามีการพูดถึงประเด็นที่ครอบคลุมทั้งสถานการณ์ในเมียนมา ชายแดน ประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โดยเฉพาะกับไทย


ผลกระทบการสู้รบในเมียนมา ปัญหาท้าทายด้านมนุษยธรรมของไทย

ปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ลงพื้นที่ไปยังบริเวณชายแดนระบุว่า ประชาชนชาวเมียนมา โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กชาวกะเหรี่ยงต่างอพยพเข้ามายังฝั่งไทย เนื่องจากการโจมตีของกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นทั้งทางบกและทางอากาศ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานตามหลักการสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี การเยียวยาในเรื่องจิตใจของประชาชนฝั่งไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทำได้ยากลำบาก เนื่องจากความพร้อมของหน่วยงานรัฐไทยเอง

ปรีดา ระบุอีกว่า ประชาชนในพื้นที่ทั้งสองฝั่งต่างเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นปกติตั้งแต่ก่อนการรบพุ่งกัน โดยผู้ให้ความช่วยเหลือกันเอง หลังจากเกิดการสู้รบกันระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพกะเหรี่ยง ของทั้งประชาชนและภาคประชาสังคมต่างเกิดความรู้สึกหวาดกลัวกองทัพเมียนมา ประชาชนในพื้นที่ยังระบุอีกว่า ฝั่งไทยเองไม่มีการเตรียมความพร้อมต่อการตอบรับด้านภัยพิบัติจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ไม่ว่าจะทั้งอาหาร น้ำ และยารักษาโรค


ย้อนดูสถานการณ์ภายในเมียนมา ณ ปัจจุบัน

อรรวี แตงมีแสง จากเพจเฟซบุ๊ก Natty in Myanmar เล่าถึงสถานการณ์ภายในเมียนมา ทั้งในด้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวเมียนมา และการใช้ชีวิตในเมียนมาในปัจจุบันว่า ถึงแม้จะผ่านมาแล้วกว่า 10 เดือน แต่ประชาชนยังคงลุกฮือขึ้นประท้วงอยู่เช่นเคย แต่จากการปราบราบในช่วงแรกที่รุนแรง การชุมนุมในปัจจุบันจึงจัดออกมาในรูปแบบของการจัดแฟลชม็อบทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการนัดหยุดงาน การลงโทษทางสังคมต่อศิลปินที่สนับสนุนกองทัพ หรือเมินเฉยต่อการรัฐประหาร

การชุมนุมแฟลชม็อบในปัจจุบันของเมียนมา มีผู้เข้าร่วมเป็นทั้งประชาชนทั่วไป พระภิกษุสงฆ์ กลุ่ม LGBTQ+ เยาวชน ฯลฯ ที่ต่างร่วมกันออกมาขับไล่กองทัพเมียนมา ผ่านการรวมตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้สามารถแยกตัวได้เร็ว การต่อสู้ยังเกิดขึ้นในรูปแบบอื่นๆ อีก อาทิ การคว่ำบาตรสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ หรือกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากกองทัพ

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มต่อต้านภาคประชาชน (PDF) ของเมียนมายังคงระดมทุน ทั้งผ่านการบริจาค การออกพันธบัตร เพื่อมอบเงินสนับสนุนรัฐบาลประชาชน และในทางตรงกันข้าม ประชาชนต่างเลิกซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และงดการจ่ายภาษีให้แก่กองทัพเมียนมา ถือมีอำนาจเหนือระบบราชการเมียนมาในปัจจุบัน อรรวี ยังได้ระบุอีกว่า หลังจากการเปิดประเทศของเมียนมาได้เพียง 10 ปี การต่อต้านอำนาจเผด็จการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลับเกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง แสดงให้เห็นว่าเยาวชนเมียนมาสามารถตามกระแสของโลกได้ทัน ควบคู่ไปกันกับการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยที่เป็นกองกำลังติดอาวุธต่อต้านกองทัพเมียนมา ถึงแม้ว่าประชาชนจะต่างตกอยู่ภายใต้ความกลัวจากกองทัพเมียนมาก็ตาม

ส่วนการใช้ชีวิตตามปกติกลางกรุงย่างกุ้งนั้น อรรวี กล่าวว่า กองทัพเมียนมาได้มีการส่งทหารเฝ้าตามที่สาธารณะ เพื่อขอตรวจค้นประชาชน ไม่เว้นแม้แต่โทรศัพท์มือถือ โดยถ้าหากมีการพบเนื้อหาต่อต้านกองทัพเมียนมา บุคคลนั้นๆ ก็อาจถูกจับกุมได้ ยังไม่รวมถึงการออกกฎที่ไม่สมเหตุสมผลจากทางกองทัพ อาทิ การห้ามไม่ให้ประชาชนเกินกว่า 2 คน นั่งซ้อนจักรยานยนตร์ เพราะกองทัพเกรงกลัวการถูกลอบยิง


กองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ กับการสู้รบตอบโต้กองทัพเมียนมา

ศิรดา เขมานิฎฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากผลพวงของการรัฐประหารเมียนมาแล้วประมาณ 2,000 ราย จำนวนมากเกิดจากการสนับสนุนโดยกองทัพเมียนมา ผิดไปจากเดิมที่ภายหลังการเปิดประเทศ มีการคาดการณ์ว่า กองทัพเมียนมาอาจจะไม่กล้าใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุผลของการแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติ เหตุดังกล่าวจึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ไม่ทันยุคสมัยของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ จนประชาธิปไตยของเมียนมาไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่มือรัฐบาลพลเรือนได้

ศิรดา ระบุถึงกองทัพเมียนมาอีกว่า กองทัพยังคงมีความกลัว และยังคงมีความเปราะบาง ต่อการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ จากการลุกฮือของประชาชนที่เกิดขึ้นมาตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การกดปราบของกองทัพเมียนมาต่อประชาชน กลับไม่สามารถทำให้ประชาชนสยบยอมต่ออำนาจเผด็จการได้ กองทัพเมียนมาจึงไม่สามารถควบคุมอำนาจของประเทศ และถือครองความชอบธรรมได้อย่างสมบูรณ์

แต่ถึงแม้การต่อสู้ของประชาชนจะยังคงดำเนินต่อไป ศิรดา ระบุว่า ประชาชนเมียนมาหลายคนยังคงถูกปราบปราม และถูกจับกุมอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมาเองก็มีการทำ IO ในลักษณะของการปล่อยเฟกนิวส์เพื่อสร้างความเข้าใจผิด และการสร้างความกลัวแก่ประชาชนด้วยเช่นกัน

สำหรับกองทัพของชนกลุ่มน้อยในแต่ละรัฐของเมียนมาแล้วนั้น ศิรดาชี้ว่า กองทัพชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในเมียนมามีลักษณะที่แตกกันกระจัดกระจาย ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพกัน ในการสู้รบกับกองทัพเมียนมา รวมถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละชนกลุ่มน้อย ในการต่อต้านกองทัพของเมียนมา ที่มีทั้งการออกมาสู้รบกับกองทัพเมียนมาโดยตรง ไปจนถึงการวางเฉย ซึ่งส่งผลต่อเอกภาพในการต่อต้านกองทัพเมียนมาที่แตกต่างกันออกไปด้วย


ผลกระทบต่อแรงงานและผู้อพยพหนีภัยสงครามจากเมียนมา

พ.ต.ท. ณัฐพล ชุ่มบัวตอง สารวัตรตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพบผู้หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมากขึ้น โดยทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้มีการออกกฎอนุญาตให้มีการลงทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้แรงงานผิดกฎหมายลักลอบเข้ามายังประเทศไทยได้มากขึ้น ทั้งนี้ พ.ต.ท. ณัฐพล มองว่า แรงงานผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพหนีภัยสงครามจากเมียนมาโดยตรง


การจัดการผู้ลี้ภัยในไทย

ภาณุภัทร จิตเที่ยง จากหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ถูกรายงานในหน้าสื่อไทย อาจถูกระบุในรูปแบบของแรงงานผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี จากแรงงานเมียนมาที่ถูกจับกุมตัวโดยรัฐไทยนั้น อาจมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย ในขณะที่กระบวนการคัดกรองจากภาครัฐไทยยังคงไม่มีความชัดเจน รวมถึงตัวเลขของผู้ลี้ภัยที่ชัดเจนเองก็ไม่สามารถระบุได้ โดยมีผู้ลี้ภัยที่กลัวการถูกจับกุมตัวและส่งกลับเมียนมาจำนวนมาก ที่ต่างแอบหลบอยู่ในพื้นที่ป่าปัจจุบัน

ภาณุภัทร ระบุอีกว่า ตราบใดก็ตามที่สถานการณ์ความสงบในเมียนมายังไม่คลี่คลาย สถานการณ์บริเวณชายแดนและความมั่นคงในประเทศไทยเองก็จะยังคงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาชนคนไทยตามชายแดน ที่ต้องอพยพเข้ามาในประเทศลึกขึ้น เนื่องจากการโจมตีของกองทัพเมียนมาในอีกฝั่งของพรมแดน ดังนั้น ปัญหาผู้ลี้ภัยจึงไม่ได้เกิดแต่เพียงชาวเมียนมาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับชาวไทยด้วย

ไทยเองยังได้รับผลกระทบจากการล่วงอำนาจอธิปไตยทางดินแดน จากการลุกล้ำพรมแดนของกองทัพเมียนมาต่อไทย ผ่านทางการใช้เรือลาดตระเวน เครื่องบิน และการส่งการปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารเพื่อติดตามผู้คน ภาณุภัทร ชี้อีกว่า เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า กองทัพเมียนมาไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของไทย นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสหประชาชาติระบุว่า หน่วยที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในเมียนมา จำเป็นจะต้องหาเงินทุนเพื่อซื้ออาวุธ เหตุดังกล่าวส่งผลให้เกิดการค้ายาเสพติด ยังผลให้เกิดการลักลอบขนยาเสพติดบริเวณพรมแดนเมียนมากับไทยตามมา

ภาณุภัทร กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยเน้นแต่การสร้างความเชื่อใจกับกองทัพเมียนมาเป็นหลัก โดยความเชื่อมั่นนั้นไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นกันระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่รัฐบาลไทยกลับขาดการสร้างความเชื่อมันต่อประชาชนชาวเมียนมา โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ภาณุภัทร ระบุว่า รัฐบาลไทยควรสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งสองฝั่ง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไทยไม่สามารถทำได้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาว


ผลกระทบจากรัฐประหารต่อแรงงานจากเมียนมาในไทย

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ จากมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ระบุว่า ชาวเมียนมาเองมีคุณภาพชีวิตในเมียนมาที่ไม่ได้ดีมากนัก ถึงแม้ว่าการเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยอาจยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมาได้เล็กน้อย อย่างไรก็ดี ลัดดาวัลย์ กล่าวว่าแรงงานจากเมียนมา 4.1 แสน หรืออาจมากถึง 2 ล้านรายในไทย ถือได้ว่าเป็นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่แรงงานเหล่านี้กลับเจอขั้นตอนการขออนุญาตแรงงานถูกกฎหมาย ที่มีความซับซ้อนวุ่นวาย ส่งผลให้เกิดการแอบลักลอบแรงงานเมียนมาเข้าไทย

ลัดดาวัลย์ หยิบยกประเด็นสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานเมียนมา ที่ต่างก็เจอกับผลกระทบจากการรัฐประหารในประเทศบ้านเกิดอีกทีหนึ่งว่า ระบบบริการสุขภาพต่อแรงงานเมียนมาในไทยเอง ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดยังคงมีปัญหา ทั้งในด้านการเศรษฐกิจจากการปิดโรงงาน การเข้าถึงวัคซีนและการรักษา รวมถึงการถูกมองว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ สถานการณ์เหล่านี้ล้วนทำให้แรงงานเมียนมาต้องเผชิญหน้ากับการจัดการปัญหาด้วยตนเอง

ลัดดาวัลย์ กล่าวเสริมถึงการจัดการปัญหาแรงงานเมียนมาแบบ MOU ภายในประเทศไทยว่า ด้วยความที่เมียนมาตกอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลว ภายหลังจากการรัฐประหารและการประท้วงต่อต้าน ระบบราชการของเมียนมาในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานในวิธีเดิมเองก็ได้เกิดปัญหาตามไปด้วย ลัดดาวัลย์ เสนอว่า รัฐไทยควรหาแนวทางให้เกิดความยืดหยุ่นต่อแรงงานเมียนมา ในการขออนุญาตใช้แรงงานในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 10 เดือน ภายหลังจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตย ของกองทัพเมียนมาที่พยายามสถาปนาอำนาจนำในประเทศให้ได้ แต่ประชาชนชาวเมียนมายังคงลุกขึ้นประท้วงขับไล่ระบอบเผด็จการอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน

อย่างไรก็ดี ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องวางบทบาทของตนเองต่อเมียนมา ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย และการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกประชาคมโลกมองว่ากำลังด่ำดิ่งลงสู่ลัทธิเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ