นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TRUE) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTAC) ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ขอให้สำนักงานนำเสนอบอร์ด กสทช. ให้มีการยุติการให้บริการ 2G ในวันที่ 31 ต.ค. 2562
โดยโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายพร้อมที่จะทำการประชาสัมพันธ์แผนการยุติการให้บริการ 2G ที่จะมีการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ 2G ให้ได้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องในระบบ 3G ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะรีบนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อที่จะรีบทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบการยุติการให้บริการ 2G ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการเปิดให้บริการ 5G ในประเทศไทย
นายฐากร กล่าวว่า สิ่งสำคัญ 2 เรื่องที่ประชาชนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ 2G คือ
1. อัตราค่าบริการ ที่ประชาชนเข้าใจว่าค่าโทรในระบบ 2G ถูกกว่าค่าโทรด้วยเสียงในระบบ 3G 4G เรื่องจริงค่าโทรด้วยเสียงในระบบ 3G 4G เฉลี่ยอยู่ที่ 60 สตางค์ต่อนาที ถูกกว่าค่าโทรในระบบ 2G ซึ่งมีค่าโทรเฉลี่ยอยู่ที่ 97 สตางค์ต่อนาที
2. เรื่องระบบความปลอดภัยที่ประชาชนเข้าใจผิดว่าถ้าโทรศัพท์หากันด้วยเสียงในระบบ 2G คนจะดักฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงคือตามกฎหมายไม่ว่าประชาชนจะโทรศัพท์หากันด้วยระบบไหนก็ตาม ประชาชนจะได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถดักฟังโทรศัพท์ได้ ยกเว้น กรณีการค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะต้องขออนุมัติต่อศาลที่จะออกหมายดังกล่าว เพื่อทางสำนักงาน กสทช. จะได้แจ้งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอแจ้งผู้ประกอบการนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ให้รับทราบว่าจะมีการยุติการให้บริการ 2G ในวันที่ 31 ต.ค. 2562 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตสามารถนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ในระบบ 2G ได้ แต่อาจได้รับผลกระทบด้านการตลาดเมื่อมีการยุติการให้บริการในระบบ 2G คือนำเข้ามาแล้วอาจจะขายไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการนำเข้าอย่างเป็นทางการต่อไป
สำหรับสถิติการนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G พบว่า ปี 2557 มีการนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2G จำนวน 117,486 เครื่อง ปี 2558 จำนวน 11,300 เครื่อง ปี 2559 จำนวน 10,670 เครื่อง ปี 2560 จำนวน 10,930 เครื่อง และปี 2561 จำนวน 14,052 เครื่อง จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2558, 2559, 2560 เป็นต้นมา การนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ลดจากปี 2557 อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการ 5G ในปลาย 2563 ให้ได้ ดังนั้นเพื่อให้การเปิดใช้บริการ 5G จำเป็นต้องยุติการให้บริการ 2G เพื่อนำคลื่นความถี่ในส่วนนี้ไปใช้ในการให้บริการ 5G ซึ่งจะเกิดประโยชน์ และเกิดความคุ้มค่าต่อประชาชนและประเทศชาติมากกว่า เมื่อยุติการให้บริการ 2G ประชาชนยังใช้บริการโทรศัพท์ได้เหมือนเดิมด้วยระบบ 3G 4G และมี 5G ให้บริการในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง