หลังจากการปล่อยแขกวีไอพี กรณีทหารต่างเมืองสัญชาติอียิปต์เข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. จนเป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ระยอง ต่างผวากันไปทั่วเมือง แม้ว่าทาง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก จะออกมารับหน้าชี้แจงว่าไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่ไม่สามารถดับอารมณ์ผู้คนได้จนเกิดแฮชแท็ก 'อีแดงกราบตีนคนไทย' ที่มุ่งเป้าไปที่ ผู้บัญชาการกองทัพบก 'พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์'
สั่งปลด 'บอร์ดสนามมวย' ยกชุด เว้น 'ประธาน'
แน่นอนว่าความดาลเดือดของผู้คนไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพบกไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค. 'สนามมวยลุมพินี' ถูกพบว่าเป็นต้นตอของแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์กองทัพบกที่เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะมีการฝ่าฝืนจัดกิจกรรม ขณะที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ส่งหนังสือให้เลื่อนออกไปเสียก่อน แต่กลับถูกเพิกเฉย มีผู้เซ่นสังเวยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
จนในที่สุดหลังการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 'พล.อ.อภิรัชต์' ได้สั่งปลด กรรมการสนามมวยทั้งหมด รวมถึง พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวย แต่ในสังคมก็มีคำถามกลับว่า 'พล.อ.อภิรัชต์' ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพีนี จะรับผิดชอบอย่างไรแต่ก็ไร้คำตอบ
โมเดลรับแขก
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกาและคณะได้เดินทางเยือนประเทศไทย โดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องกักตัว 14 วัน ตามมารตการป้องกันของรัฐบาล ที่ผู้มีอำนาจต่างออกมาเน้นย้ำว่าให้ประชาชน 'ห้ามการ์ดตก' แต่ผู้นำกองทัพบก กลับชี้แจงว่า การเดินทางเยือนไทยของผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐอเมริกาและคณะว่า จะเป็นคณะตัวอย่างที่ทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลพระมงกุฎ รวมถึงเจ้าหน้าที่การบินไทย มาดูแลและดูไว้เป็นโมเดลในอนาคตที่อาจมีคณะอื่นมาเยือนไทย จะได้ปฏิบัติถูกต้องและรู้ว่ามีระเบียบอย่างไร
ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องกองทัพ ก็ยังเข้ามาไทยได้
แต่แล้วไม่กี่วันก็เกิดเหตุการณ์ที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13ก.ค. พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย หนึ่งในนั้นเป็นชาวทหารอียิปต์ เดินทางมาที่สนามบินอู่ตะเภาซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของกองทัพเรือ และได้เดินทางออกนอกสถานที่กักตัวของรัฐ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจเมืองระยองถูกแช่แข็งไปชั่วขณะ
กรณีดังกล่าวทำให้ผู้รับผิดชอบอย่าง ศบค.-กองทัพ ต่างถูกโจมตีอย่างหนักถึงความหละหลวม มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุว่า "ขอโทษก็แล้วกัน"
เช่นเดียวกับโฆษก ศบค. ที่ออกมาแถลงกราบขอโทษสังคม ขณะที่กองทัพบกนั้น ได้ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่มีภารกิจเกี่ยวข้อง
เลื่อนไม่ได้เพราะความสัมพันธ์ทางทหาร
'กิจกรรมทางทหาร' ได้ถูกจับตามาตั้งแต่การแพร่ระบาดที่สนามมวยลุมพินี จนมาถึงกรณีล่าสุดวันที่ 3 ส.ค. ทหารจากสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 71 นาย และเดินทางมาจากญี่ปุ่น 32 นาย แม้ว่า พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 กองทัพบก (ผอ.ศบค.ทบ.) ออกมาการันตีว่าทหารจากต่างแดนต้องกักตัวตามมาตรการสาธารณสุข และชี้แจงถึงเหตุผลที่เลื่อนไม่ได้ว่า เป็นเรื่องของความต่อเนื่องในการฝึกร่วมผสมรหัส “หนุมานการ์เดียน” ที่ดำเนินการมากกว่า 20 ปี
กลายเป็นการตั้งคำถามของคนในสังคมอีกครั้งว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะซ้ำรอยเมื่อครั้งการพบเชื้อจากทหารอียิปต์หรือไม่
นอกจากนี้ยังมี 'คนไทย' จำนวนมากที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทยอีกมากมาย ไม่ว่าจะนักศึกษาและประชาชนที่พำนักอยู่ต่างแดน แต่ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้ เพราะหลายประเทศปิดน่านฟ้า ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ
การเดินทาง 'กลับบ้าน' ของคนไทยที่ต้องตกค้างในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยและทางการไทย
ส่วนข้อมูลล่าสุดจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า จนถึงวันที่ 30 ก.ค. 2563 มีคนไทยในสหรัฐฯ แจ้งความประสงค์เดินทางกลับไทยภายในวันที่ 31 ส.ค. 2563 ประมาณ 4,412 คน
ภาพสะท้อนว่าการเลือกปฏิบัติโดยอ้างความสัมพันธ์ทางทหารหรือแขกวีไอพี สำคัญกว่าคนไทยไกลบ้าน ยังสะท้อนได้จากชุดข้อมูลตลอดปี 2563 ภายใต้กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า คนไทยราว 1,276,546 คน แสดงความประสงค์จะกลับประเทศไทย ผ่านการลงทะเบียนเพื่อขอจองเที่ยวบินกลับประเทศ แต่ก็มีคนอีกมากที่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย