ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงโฆษณา “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ “เบียร์ 0%” สร้างนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต พร้อมเตือนอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ชี้ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ “เบียร์ 0%” ที่เป็นกระแสสังคมและจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ เนื่องจากมีลักษณะตราสินค้าคล้ายกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่เมื่อไม่มีแอลกอฮอล์ จึงมักทำการตลาดอย่างสินค้าทั่วไป มีการใช้ภาพสัญลักษณ์ของสินค้าในการสื่อสารการตลาดแทนสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ปกติ ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโอกาสในการแอบอ้างชื่อเบียร์ 0% ของผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นและเยาวชนทดลองรสชาติเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ นำไปสู่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จริงได้ในอนาคต

จากข้อมูลผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พบว่า การปล่อยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ทำการตลาดภายใต้แบรนด์เดียวกับแบรนด์เหล้า เบียร์ ทั่วไป จะยิ่งทำให้เกิดการดื่มเหล้า เบียร์ มากยิ่งขึ้น เพราะว่าการดื่มเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ให้ความรู้สึกว่าปลอดภัยกว่าการดื่มแบบแอลกอฮอล์ปกติ การพบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากซื้อและอยากดื่มเบียร์ปกติ

"ส่วนคนที่ดื่มเบียร์ปกติก็ยังคงดื่มเช่นเดิม ไม่ได้ลดการดื่มลง เพื่อเป็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่ เห็นควรมีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ด้านเวลาขาย สถานที่จำหน่าย และจุดจำหน่ายสินค้า รวมถึงการทำการตลาดให้เป็นการเฉพาะไม่ต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ทั้งนี้ จากการหารือต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ครั้งที่ 1/2562 มีมติว่า การโฆษณาสินค้าประเภทเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ เข้าข่ายเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้เช่นเดียวกัน

ประชาชนส่วนใหญ่เมื่อเห็นโฆษณาเครื่องดื่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์ 0% จะนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า ซึ่งเป็นการโฆษณาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า อีกทั้งการจำหน่ายสามารถทำได้อย่างอิสระ และอาจทำให้ประชาชนสับสนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จึงขอย้ำเตือนผู้ประกอบการศึกษากฎหมายการโฆษณาให้รอบคอบ


นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


 ข่าวที่เกี่ยวข้อง :