ไม่พบผลการค้นหา
‘วอยซ์’ ชวนผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งมานั่งคุย ลิสต์รายการที่ต้องจับตาให้มั่น เพื่อทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส่ที่สุด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่มีอภินิหารบัตรเขย่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร ตอบเป็นนัยว่า เราอาจจะต้องเริ่มต้นจับตาที่ ‘กรรมการ’

ล่าสุดกฎหมายลูกสองฉบับ ว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศลงราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้ว นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ แน่นอนการเลือกตั้งในครั้งนี้มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ไม่ต้องคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน เมื่อเป็นเช่นความยุ่งยากในการคำนวณสัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ในสภาฯ คงไม่เป็นข้อกังขาเหมือนครั้งที่ผ่านมา

เส้นทางสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรดูเหมือนจะเป็นไปโดยง่าย เพียงแค่เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ และรอฟังผลการเลือกตั้ง ถึงอย่างนั้นก็ตามตลอดเส้นทางยังมีสิ่งที่ต้องจับตาให้ดี เพราะไม่แน่ว่า อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในรายละเอียด หรือปรากฎอย่างเปิดเผย แต่ถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ

‘วอยซ์’ ชวนผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งมานั่งคุย ลิสต์รายการที่ต้องจับตาให้มั่น เพื่อทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส่ที่สุด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่มีอภินิหารบัตรเขย่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร ตอบเป็นนัยว่า เราอาจจะต้องเริ่มต้นจับตาที่ ‘กรรมการ’

ภาพประกอบงาน กกต. 1.jpg
เปลี่ยนโครงสร้าง กกต. กำหนดสเปคเทพ แต่ไม่ฟังก์ ชั่น

เริ่มต้นกันที่ฐานรากของ ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง - กกต.’ สมชัย ชี้ว่า โครงสร้างของคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูก (พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง) นอกจากจะเปลี่ยนจำนวนคณะกรรมการการเลือกตั้งจาก 5 คนเป็น 7 คนแล้ว ในแง่คุณสมบัติยังมีการกำหนดสเปคที่สูงกว่าเดิม ทั้งในแง่ของประวัติความเป็นมา คุณสมบัติขั้นพื้นฐาน และวิธีการทำงาน

  • หากผู้สมัครรับการคัดเลือกเป็น กกต. เป็นข้าราชมาก่อน ต้องเป็นข้าราชการระดับสูง ต้องอยู่ในตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีมาไม่น้อยกว่า 5 ปี 
  • หากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเป็นระดับศาสตรจารย์มาไม่ต่ำกว่า 5 ปี 
  • หากเป็นผู้บริหารระดับสูงในรัฐวิสาหะกิจต้องเป็นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี 
  • หากเป็นผู้บริหารองค์การเอกชน หรือทนายความก็ต้องทำงานมาไม่น้อยกว่า 20 ปี 

สมชัยเห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของผู้สมัครเป็น กกต. ไว้สูงในลักษณะนี้คือ การกีดกันคนจำนวนหนึ่งออกจากการสมัครเป็น กกต. ปัญหาที่ตามมาคือ การได้คนที่สเปคสูงจริง แต่กลับมีความสามารถที่ไม่ตรงกับการจัดการเลือกตั้ง

"บางคนอาจจะเปลี่ยนศาสตราจารย์จริง แต่เป็นเป็นศาสตราจารย์ทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือบางคนเป็นข้าราชการระดับอธิบดีมาจริง แต่ก็เป็นเอกอัครราชทูตมาก่อน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ตรงกับการเลือกตั้ง"

ในส่วนวิธีการทำงานของ กกต. เองก็มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีการออกแบบไม่ให้ กกต. ลงไปกำกับดูแลการเลือกตั้งในด้านต่างๆ เช่นก่อนหน้านี้จะการแบ่งหน้าที่กันไปดูแล เช่น ด้านการมีส่วนร่วมฯ ด้านการสืบสวนสอบสวน ด้านการบริหารจัดการการเลือกตั้ง ด้านพรรคการเมือง แต่เวลานี้กำหนดให้ กกต. 7 คน ทำหน้าที่เป็นบอร์ด หรือเป็นคณะกรรมการอยู่ข้างบน โดยทุกอย่างจะเป็นเรื่องที่ทางสำนักงานจะเป็นผู้เสนอขึ้นมาให้บอร์ดพิจารณา ซึ่งนั่นทำให้ความใกล้ชิดกับงาน ความคุ้นเคยกับหน้างานน้อยลง 

"ผลจากการออกแบบโครงสร้างนี้บางครั้งนำมาซึ่งความล่าช้าในการพิจารณา และบางครั้งนั้นมาซึ่งความผิดพลาด ยกตัวอย่างกรณีแจกใบส้มที่จังหวัดเชียงใหม่"

มากไปกว่านั้นยังมีการรื้อเอาคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดออก และแต่งตั้งตำแหน่ง ‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ในส่วนคณะกรรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่เดิมเป็นโครงสร้างที่ผสมผสานระหว่างฝ่ายต่างๆ ภายในจังหวัด เช่น ผู้บริหารการศึกษา ทนายความ ภาคเอกชน ฝ่ายปกครอง ซึ่งการผสมผสานความหลากหลายดังกล่าวนี้ ทำให้การบริหารจัดการเลือกตั้งในจังหวัด ถูกควบคุมกำกับโดยคนซึ่งมีความหลากหลาย และมีมุมมองที่แต่ต่างกัน เป็นหลักประกันที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้อำนายการการเลือกตั้งประจำจังหวัด 

แต่เวลานี้ได้ใช้ระบบผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน ซึ่งถือว่าเป็น 'คนนอก' โดยจะเข้ามาทำงานเฉพาะช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งประมาณ 2-3 เดือน และวิธีการทำงานออกแบบมาให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 6-8 คน โดยในจำนวนนี้สามารถให้เป็นคนภายในจังหวัดได้เพียง 2 คน อีก 4 คนต้องเป็นคนนอกพื้นที่ ฉะนั้นความไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ก็จะเกิดขึ้น  

“สมมติคุณเป็นคนเชียงใหม่ แต่ต้องไปทำงานที่แม่ฮ่องสอน ถามว่าคุณจะรู้จักแม่ฮ่องสอนดีไหม เขต ตำบล อำเภอ ถนนหนทาง ชุนชน คุณก็แทบจะไม่รู้จัก ดังนั้นการทำงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง จึงเป็นการทำงานซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดๆ ทั้งสิ้น คือไม่มีผลงานเลย ไม่มีการตรวจพบการทุจริตเลยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา”

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นโครงสร้างที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญของ กกต. คือ การยกเลิกบทบาทขององค์กรเอกชนที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยกฎหมายฉบับก่อนๆ จะมีการระบุว่า ในทุกหน่วยการเลือกตั้งจะต้องมีอาสาสมัครของภาคเอกชนเข้าไปสังเกตการณ์ แต่ตอนนี้ไม่ได้เขียนเท่ากับว่า ไม่จำเป็นต้องมี หรือถ้าให้มีการทำเป็นพิธีเท่านั้น นั่นจึงทำให้การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งของประชาชนหายไป ทั้งหมดนี้ทำให้การทำงานของ กกต. ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ภาพประกอบงาน กกต.2.jpg
แบ่งเขต: จับตาขีดเส้นใหม่ ใครเสียใครได้

อีกหนึ่งเรื่องที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้ระบบเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีการกำหนดสัดส่วนระหว่าง ส.ส. ระบบแบ่งเขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 400 กับ 100 คน

นั่นหมายความว่าจะมีเขตเลือกตั้งเพิ่มมาอีก 50 เขต และจำเป็นต้องกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ การกำหนดเส้นแดนของเขตเลือกตั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งได้ตั้งแต่เริ่มต้น และผู้อำนาจสูงสุดในการตัดสินว่าจะแบ่งเขตอย่างไรคือ กกต.

สมชัย ระบุว่า ตามกฎหมายในส่วนของการแบ่งเขต กกต. จะต้องจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตออกมาอย่างน้อย 3 รูปแบบ และประกาศให้ประชาชนได้รับรู้ รับฟังความเห็น รับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อไปเสนอ กกต. ใหญ่ นำความเห็นทั้งหมดไปประกอบการพิจารณาลงมติ

การแบ่งเขตหากนั้นสามารถสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบได้อย่างชัดเจน เช่น พื้นที่อำเภอหนึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง หากผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้พรรคนั้นชนะการเลือกตั้งก็อาจจะแทรกแซงให้ผ่าแบ่งอำเภอนั้นออกเป็น 2 เขต เพื่อให้คะแนนเสียงที่เป็นฐานของพรรคการเมืองนั้นกระจายตัวออกไปจนไม่สามารถรวมคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ได้

เช่นเดียวกัน หากฐานเสียงของผู้มีอำนาจอยู่ไกลออกไปจากเขตเลือกตั้งนิดหน่อย ก็อาจจะมีการขมวดรวมพื้นที่ฐานเสียงนั้นเข้ามาในเขตตัวเองได้ 

นี่ถือเป็นเทคนิคทางการเมือง หากผู้มีอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่ ในจังหวัด สามารถสั่งการ แทรกแซง กกต. ได้ ฉะนั้นประชาชนจะต้องจับตาเรื่องนี้ 

ทั้งนี้การเลือกตั้งปี 2562 เองก็พบการแบ่งเขตที่เปิดข้อกังขา คือ เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสุโขทัย พบว่ามีการนำพื้นที่ในอำเภอ 2 อำเภอคือ ทุ่งเสลี่ยง และบ้านด่านลานหอย มารวมเป็นเขตเลือกตั้งเดี่ยวกัน ทั้งที่จุดนั้นไม่มีทางเชื่อมถึงกัน เพราะเป็นเขตภูเขากั้น เป็นชายแดนธรรมชาติ ทางเชื่อมที่มีระหว่างสองพื้นที่นี้คือ ทางเดินเล็กๆ บนภูเขา การสัญจรไปมาปกติจะต้องเดินทางอ้อมไปอีกอำเภอหนึ่ง แต่ในครั้งนั้น กกต. ก็ถือเพียงแค่ว่ามีพื้นที่ตามแผนที่ติดกันก็เพียงพอ 

ส่วนในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า อำเภอเมืองอำเภอเดียว ถูกฉีกออกเป็น 4 เขตเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าพื้นที่ดังกล่าวประสงค์ที่จะทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบบ้าง

ที่แย่ไปกว่านั้นการแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2562 แม้จะมีการออกแบบเขตเลือกตั้งมาทั้ง 3 แบบ และเปิดให้ประชาชน พรรคการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ก็จริง แต่สุดท้ายยังไม่ทันที่ กกต. ประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็พบว่ามีคำสั่งของคณะรัฐประหาร สั่งให้จัดทำเขตเลือกตั้งใหม่ และให้ประกาศใช้ได้โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ประกาศนั้นกลับอ้างถึงความจำเป็นในการออกคำสั่งนี้ว่า เนื่องจากมีเหตุร้องเรียนจากประชาชน ว่าการแบ่งเขตก่อนหน้านี้ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน

ภาพประกอบงาน กกต.4.jpg
สอดส่องการทุจริต ทำผิดกฎ เล่นนอกเกม

เรื่องต่อมาที่ประชาชนควรจับตาคือ การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง หลังจากการ กกต. ได้ออกระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงเลือกตั้งและข้อต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ออกมา หรือที่เรียกว่ากฎเหล็ก 180 วันก่อนวันเลือกตั้ง มาวันที่ 23 ก.ย. 2565 นั้น 

ซึ่งกฎดังกล่าวกำหนดให้การแจกเงิน แจกของ จัดเลี้ยง จัดสหรสพ การปราศรัยใส่ร้ายด้วยข้อความเท็จ ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นประชาชนควรช่วยกันจับตาดูว่า จะมีพรรคการเมืองใด หรือฝ่ายผู้มีอำนาจกระทำการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ และหากพบเห็นการกระทำผิดสามารถบันภาพเหตุการณ์ หรือคลิปวิดีโอ เพื่อส่งให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือองค์การเอกชนที่จับตามการเลือกตั้งไปเดินเรื่องต่อ 

สำหรับฝ่ายรัฐบาลเองถือว่ามีความได้เปรียบ ในแง่ที่อาจจะใช้แผนงานโครงการต่างๆ ของรัฐที่ลงไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่เห็นบ่อยสุดคือ การไปตรวจราชการต่างจังหวัด โดยจะเห็นว่าการตรวจราชการในต่างจังหวัดนั้นล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง โดยเป็นการเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตามการตรวจราชการ ถ้าจะไปห้ามไม่ให้รัฐบาลทำ ก็คงเป็นการกระทำที่มากเกินไป แต่กรณีนี้จำเป็นต้องดูว่า การไปตรวจราชการนั้นเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ เช่นเดินทางไปเพื่อสร้างคะแนนนิยม ไปแสดงออกในฐานะนักการเมือง ไม่เคยไถ่นาก็ไปไถ่นาโชว์ ลักษณะนี้ก็ดูเป็นการหาเสียง หรือแม้แต่การใช้เวลานอกเวลาราชการในการหาเสียงก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะจังหวัดที่เดินทางไปนั้น เป็นการเดินทางไปในเวลาราชการ ใช้เงินงบประมาณรัฐจ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก นี่ก็คือเป็นการใช้ประโยชน์ในตำแหน่งราชการ เอื้อประโยชน์ในการหาเสียง 

และสุดท้ายสิ่งที่เป็นประเด็นในช่วงที่ผ่านมาคือการ แต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 3 คน ซึ่งเป็นแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งเข้าไปสังกัด แม้ตำแหน่งนี้จะไม่มีเงินเดือนก็จริง แต่มีข้อกำหนดว่า ส่วนราชการสามารถอำนวยความสะดวกแก่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ทุกอย่าง ซึ่งนี้แสดงให้เห็นว่า มันคือการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง

สำหรับรายละเอียดของเรียบข้อบังคับในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง ประกอบด้วย 

ระเบียบของพรรคการเมืองและผู้สมัคร  ประกอบด้วย

1.ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถไปร่วมงานประเพณี เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพได้ สามารถมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่ให้เงิน หรือมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ยกเว้นเจ้าภาพจัดเจรียมสิ่งของไว้ให้มอบในงาน โดยไม่ใช้เงินของผู้สมัคร หรือระบุชื่อเป็นประธานในงาน โดยผู้สมัครไม่ได้มีการมอบเงินตนเอง โดยเจ้าภาพต้องไม่กล่าวชื่อ หมายเลขผู้สมัคร

2.ผู้สมัครที่มีความจำเป็นต้องจัดงานในช่วงนี้ สามารถจัดได้เท่าที่จำเป็น แต่ต้องหลีกเลี่ยงการจัดงานขนาดใหญ่ เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่า จัดให้มีมหรสพเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง

3.หัวหน้าพรรคการเมือง  ผู้บริหารพรรคการเมือง สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามจัดหา หรือนำคนไปช่วยหาเสียงแบบมีค่าตอบแทน

4.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองสามารถหาเสียงในสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน

5.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เช่น เหตุอัคคีภัย หรือโรคระบาด

6.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองสามารถปิดแผ่นป้ายเลือกตั้ง โดยมีวิธีการ  ขนาด จำนวน และสถานที่ตามที่กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สำหรับแผ่นป้ายที่ติดไว้ก่อนแล้ว ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามขนาดและสถานที่ที่กำหนดไว้

7.ในการหาเสียง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 อย่างเคร่งครัด

ระเบียบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย

1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการมือง  สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ  เช่น การออกรายการวิทยุโทรทัศน์  แต่ห้ามมิให้อาศัยตำแหน่งกระทำการหาเสียงเลือกตั้งให้ตนเอง และผู้อื่น

2.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน หรือทรัพย์สินกรณีเจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของพิธีการไว้ให้มอบในงาน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงิน สามารถกระทำได้ แต่เจ้าภาพจะประกาศชื่อหาเสียงให้ไม่ได้

3.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการมือง สามารถหาเสียงนอกเวลาราชการให้ตนเองและผู้สมัครอื่นได้ แต่ต้องมิใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

4. ส.ส.และกรรมาธิการ สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติ

ระเบียบของหน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย

1. หน่วยงานของรัฐ สามารถดำเนินหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การประชุมสัมมนา ประกวดแข่งขัน งานเทศกาลประเพณี โดยให้พนักงานในสังกัด ให้ความสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.ให้พนักงาน ข้าราชการ ลูกจ้างทุกระดับ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

3.นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนถึงการเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพนักงานให้ทำเท่าที่จำเป็น

4.ให้ข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น สนับสนุนสถานที่ปิดป้ายประกาศเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง

5.การทำเอกสารของรัฐมนตรี ปฏิทินที่มีรูปรัฐมนตรีต้องทำในนามหน่วยงาน ระวังไม่ให้เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง

6.การทำป้ายต้อนรับ ข้าราชการที่มาปฏิบัติหน้าที่ ให้พึงระวังไม่ให้เข้าข่ายผิดกฎของการเลือกตั้ง ส่วนรัฐมนตรีไม่สามารถทำป้ายขอบคุณได้ เพราะอาจขัดกับมติ ครม.ที่ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

ภาพประกอบงาน กกต.3.jpg
รอบนี้ไม่มีรายงานผลการเลือกตั้งเรียลไทม์ เสี่ยงล็อคผล 

ประเด็นสำคัญที่สุดสำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การรายงานผล โดยที่ผ่านมา กกต. ได้ลงมติว่าครั้งนี้จะไม่มีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ ผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากมีความเป็นห่วงว่าระบบอาจจะล่มอีก แม้ที่ผ่านมาจะมีเวลาในการพัฒนาระบบนานเกือบ 2 ปี ก็ตาม 

ในกรณีนี้ สมชัย เห็นว่า กกต. อาจจะทำผิดกฎหมาย เพราะในตัวระเบียบของ กกต. มีการกล่าวถึงการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการด้วย เมื่อระเบียบของ กกต. ระบุถึงสิ่งนี้ไว้ หาก กกต. ไม่ทำ นี่คือการกระทำที่ขัดต่อมติของตนเอง

หัวใจสำคัญของการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการคือ การเปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบ หากในช่วงเวลา 19.00 น. ผู้สมัครคนหนึ่งมีคะแนนอยู่ที่จำนวนหนึ่ง แต่พอผ่านมาอีก 1 ชั่วโมงกลับพบว่าคะแนนลดลงจากเดิม นั้นก็หมายความว่าต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม กกต. ลงมติว่าจะไม่มีการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบออนไลน์ นั่นหมายความว่าประชาชนอาจจะรอต้องถึง 4 ทุ่ม หรืออาจจะนานกว่านั้น จึงจะประกาศผลคะแนนทีเดียว สิ่งนี้คือการทำให้ประชาชนไม่สามารถติดตามการนับคะแนนได้ ซึ่งทำให้ความโปร่งใส่น้อยลง ถือเป็นสิ่งที่อันตรายมาก 

สมชัยตั้งคำถามถึงกรณีนี้ว่า 'ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น หรือไม่อยากทำ' เพราะข้ออ้างที่ว่ากลัวระบบล่ม คำถามก็คือ ทำไมไม่ทำให้ระบบมีเสถียรภาพ เพราะมีหน่วยงานราชการต่างๆ มีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมากมาย รวมทั้งมีเงินมีงบประมาณ หากมองว่าการทำระบบให้มีเสถียรภาพมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปก็ควรที่จะต่อรอง ฉะนั้นสามารถคาดได้ว่า กกต. มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ 

นี้เป็นเรื่องที่ประชาชนควรจะส่งเสียงว่า “กกต. จะต้องคิดใหม่ ในเวลาที่ยังเหลืออยู่” สมชัยเห็นว่า เวลาที่เหลืออยู่ยังสามารถทำระบบมารองรับได้ โดยคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน เขาย้ำด้วยว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ หากการเลือกตั้งรอบก่อนหลายคนมุ่งประเด็นไปที่สูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส. สำหรับครั้งนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สูตรการคำนวณเพราะมีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแล้ว ฉะนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง หากไม่มีการรายงานแบบออนไลน์ แล้วมาเปิดเผยคะแนนทีเดียว อาจจะการเปลี่ยนแปลงคะแนนได้ 

ภาพประกอบงาน กกต. 5.jpg
จับตากรรมการเป่าฟาล์วเลือกตั้ง 

ส่วนต่อมาคือ การจับตาการใช้อำนาจของ กกต. ในการตรวจจับการทุจริตการเลือกตั้ง หรือที่รู้จักกันว่า การแจกใบเหลือง ใบแดง ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้มีการแจกใบส้ม ได้อีกหนึ่งใบด้วย 

การตรวจจับการทุจริตนี้ กกต. สามารถทำได้ตั้งแต่ ก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง(ก่อนการประกาศผลอย่างเป็นทางการ หรือภายใน 60 วันหลังการเลือกตั้ง) ดังนั้นหากมีการทุจิริตการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงนี้ กกต. มีอำนาจเต็มที่ โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • ใบเหลือง : หากพบการทุจริตในพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงถึงผู้สมัครได้  กกต. สามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่นั้น บางหน่วย หรือในเขตนั้นได้ 
  • ใบส้ม : หากพบการทุจริต และสามารถเชื่อมโยงกับผู้สมัครได้ กรณีนี้ กกต. สามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และไม่อนุญาตให้ผู้สมัครคนดังกล่าวลงรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 1 ปีได้ 
  • ใบแดง : หลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว มีหลักฐานว่ามีการทุจริตของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 10 ปี ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะต้องสั่งให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งตามที่ กกต. กำหนด

สำหรับประเด็นที่เคยเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาในการเลือกตั้งปี 2562 คือการแจกใบส้มกับ สุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กรณีใส่ซองทำบุญให้กับพระจำนวน 2,000 บาท ซึ่งเมื่อให้ใบส้มจนทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ และ สุรพล ไม่สามารถลงสมัครอีกได้ ต่อมา กกต. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในกรณีการทุจริตดังกล่าว แต่ที่สุดแล้วศาลสั่งยกฟ้องทำให้ สุรพล ไม่มีความผิดตามที่ กกต. กล่าวหา แต่ก็ไม่สามารถกลับมาเป็น ส.ส. ได้ เนื่องจากมีการเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว 

สมชัยเห็นว่า การให้ใบส้มในครั้งนั้น เป็นการให้โดยขาดความรอบคอบ และศาลเห็นว่าเป็นการให้ที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไปว่า ในครั้งนี้จะมีการใช้อำนาจของ กกต. อย่างไรบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ตามเขายังเห็นว่า อำนาจในการให้ 'ใบส้ม' ของ กกต. เป็นอำนาจที่มีความจำเป็น แต่ผู้ใช้อำนาจจะต้องมีความรอบคอบ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมด้วย