ไม่พบผลการค้นหา
หอศิลป์ฯ ห้ามกลุ่ม 'Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่' จัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” อ้างเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป อย่างไรก็ตามเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีการจัดกิจกรรมของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ชูป้าย ปราศรัย รณรงค์สนับสนุน ม.112 และห้ามแก้ รธน. อย่างน้อย 2 ครั้ง

หลังจากกลุ่ม 'Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่' ได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวันครบรอบ 4 ปีของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2564 ที่ห้องเอนกประสงค์ 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

โดยมีการประชาสัมพันธ์ว่า กิจกรรมนี้เป็นการผนึกกำลังเปิดตัวแคมเปญใหม่ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้การเมืองไทย จะเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย

1.เปิดทางสู่ประชาธิปไตย ล้ม ส.ว. เดินหน้า “สภาเดี่ยว”

2.โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ

3.เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป - ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ

4.ล้าง มรดกรัฐประหาร - หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย

วันอังคารที่ 6 เมษายน 2564 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

ห้องเอนกประสงค์ 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ซึ่งภายในงานจะมีการเสวนาโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ "ระบอบประยุทธ์ : ทหาร ทุน วงจรอุบาทว์การเมืองไทย" , สฤณี อาชวานันทกุล "เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป : ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ" , พริษฐ์ วัชรสินธุ "ล้ม วุฒิสภา : เดินหน้าสภาเดี่ยว" , ปิยบุตร แสงกนกกุล "โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ" และ "ล้าง มรดกรัฐประหาร : หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย" พร้อมด้วย มายด์ ภัสราวลี และ ชญาธนุส ศรทัตต์

หอศิลป์ฯ ห้ามจัดกิจกรรม.jpg

แต่ล่าสุด ทางกลุ่มเปิดเผยว่ามีความจำเป็นต้องย้ายสถานที่จัดงาน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ของหอศิลป์แล้ว โดยได้รับเหตุผลว่า “กิจกรรมมีแนวโน้มไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้” และเป็นการเมืองเกินไป อย่างไรก็ตามทางผู้จัดยังยืนยันที่จัดจัดกิจกรรม โดยจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ในพื้นที่ของหอศิลป์ฯ นั้น เฉพาะเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีการจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์มาก่อนหน้าแล้ว อย่างน้อย 2 ครั้ง คือในวันที่ 14 และวันที่ 21 มี.ค. ซึ่งในทั้งสองครั้งมีการชูป้ายรณรงค์ สนับสนับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และรณรงค์ให้ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ยังพบกรณีการเข้าทำร้ายร่างกายผู้ที่ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมด้วย