ไม่พบผลการค้นหา
ศุ บุญเลี้ยง เจ้าของเพลงดัง ‘อิ่มอุ่น’ บทเพลงที่ถูกนำมาใช้ในทุกกิจกรรมวันแม่ มีเสียงสะท้อนถึง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ควรจัดงานวันแม่ ที่ชักชวนให้นักเรียนพาคุณแม่มาโรงเรียนเพื่อกราบไหว้ เนื่องจากสร้างความสะเทือนใจให้กับนักเรียนที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์

เสียงสะท้อนของ นักร้องคนดัง ศุ บุญเลี้ยง เจ้าของบทเพลงดัง ‘อิ่มอุ่น’ บทเพลงอันคุ้นเคย จนเป็นสัญลักษณ์ในช่วง วันแม่ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ถึง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ไม่อยากให้โรงเรียนมีการจัดงานวันแม่ด้วยการเชิญคุณแม่ มาให้นักเรียนกราบไหว้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ศุ บุญเลี้ยง

นักร้องคนดัง ให้ความเห็นว่า การมีกิจกรรมให้นักเรียน กราบไหว้แม่ในโรงเรียน เป็นการสร้างความสะเทือนใจให้กับนักเรียนซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถจะมาร่วมงานได้ จะด้วยเหตุผล ที่เป็นเด็กกำพร้า หรือว่าครอบครัวหย่าร้าง แม้กระทั่งไม่ว่าง ไม่สะดวกที่จะมาโรงเรียนในวันนั้นๆ ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามจัดงานวันแม่ หรือห้ามการเรียนรู้เรื่องการไหว้กราบ หวังว่า ทางโรงเรียนซึ่งไม่ได้รับคำสั่งให้จัดงาน ควรพิจารณาได้ด้วยสามัญสำนึกของความเป็นครู และหากทางรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ส่งมอบนโยบาย เห็นสมควร ได้โปรดแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบถึงความเหมาะสม

ซึ่งโพสต์ดังกล่าว มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นมากมาย โดยส่วนใหญ่เห็นด้วย กับนักร้องคนดัง ว่าควรยกเลิกการจัดกิจกรรม ให้นักเรียนพาผู้ปกครองมากราบไหว้ โดยมองเหมือนเป็น ดาบสองคม ในการทำร้ายความรู้สึกของเด็กที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ พร้อมแนะนำให้จัดกิจกรรมอื่นทดแทน ในการแสดงความรัก


ความคิดเห็น.jpgความคิดเห็น 1.jpg

สำหรับประเด็นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการหยิบยกมาพูดถึง เมื่อปีที่แล้ว เรื่องราวดังกล่าว ได้มีการพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่มีการโพสต์อยากให้โรงเรียนยกเลิกกิจกรรมการพาผู้ปกครองมาให้นักเรียนกราบไหว้ โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และยังคงแนะนำ เพราะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครอบครัวและโรงเรียน หากไม่ทำกิจกรรมเลยจะกลายเป็นอยู่แยกกัน เรื่องโรงเรียนก็อยู่เฉพาะโรงเรียน เรื่องครอบครัวก็อยู่แค่ครอบครัว อย่างไรก็ตาม บางกิจกรรมที่มีความอ่อนไหวกับเด็กบางกลุ่มจะต้องระมัดระวัง เช่น การจัดกิจกรรมวันแม่ ซึ่งเป้าหมายของการจัดงานวันแม่ คือ การให้เด็กทุกคนได้แสดงความรู้สึกต่อแม่ ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า แม่อยู่กับเขาหรือไม่ได้อยู่กับเขา ถ้าเน้นตรงนี้เด็กทุกคนจะสามารถร่วมกิจกรรมได้ทั้งหมด แต่ถ้าไปเน้นว่า ต้องแสดงออกด้วยการสัมผัสก็จะลำบากสำหรับเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่

“ยกตัวอย่าง สมัยก่อนจะให้เด็กเขียนบทความแสดงความรู้สึกแล้ว นำกลับไปให้แม่หรือผู้ปกครอง ให้ครอบครัวที่บ้าน ซึ่งก็ลดปัญหาไปได้ เพราะเด็กทุกคนมีแม่อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ตาม แต่เขายังสามารถเก็บความรู้สึกที่มีอยู่ร่วมกันได้ เรื่องนี้โรงเรียนต้องมีความเข้าใจว่า เด็กที่สูญเสียแม่เองยังมีความอ่อนไหวอยู่ ก็ต้องได้รับการดูแลด้วย ส่วนเรื่องควรจัดหรือไม่ควรจัดกิจกรรมไหว้แม่ในช่วงเทศกาลวันแม่ ตนตอบไม่ได้ เพราะบางที่สามารถจัดกรรมได้ดีโดยที่มีระบบการดูแล จัดการเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนที่ต้องไปคิด ตัดสินใจว่า อะไรถึงจะพอเหมาะสำหรับนักเรียนของตัวเอง โดยคิดถึงคำว่าครอบครัว แน่นอนว่า เด็กต้องการทั้งพ่อและแม่ แต่บางครอบครัวยังมีคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เป็นครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์” พญ.พรรณพิมล กล่าว