บนผืนป่า 187,000 ไร่ เรียงรายไปด้วยบ้านเรือนหลายพันหลัง ด้วยวิถีชีวิตเกษตรกรรม คอยหล่อเลี้ยงปากท้องคนในชุมชน ผ่านเรื่องราวช่วงชีวิตผู้คนจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ความสมบูรณ์อาจไม่ยั่งยืน หากแหล่งพักอาศัยไร้สายน้ำนำวิถี
กรมชลประทานนำสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจ "โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ" ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จากการยื่นเรื่องเสนอของชาวชุมชนต้นน้ำ ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อบรรเทาภาวะน้ำท่วมขังในฤดูฝนและปัญหาภัยแล้ง บนพื้นที่เพื่อการเกษตร โดยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หากการผลักดันโครงการสำเร็จ คาดว่าจะมีพื้นที่รับผลประโยชน์ประมาณ 8,200 ไร่
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ.หลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 20.19 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถส่งน้ำ ครอบคลุม 7 หมู่บ้านบนพื้นที่ อ.พร้าว
แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของฝายเดิมในปัจจุบัน ประมาณ 3,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่เพิ่มอีกประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 6,000 ครอบคลุมทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศให้กับลำน้ำในพื้นที่อีกด้วย
"เราเป็นคนต้นน้ำ แต่ไม่มีน้ำใช้ คนต้นน้ำ น้ำกินแทบไม่มี" พระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าคณะต.โหล่งขอด ซึ่งเป็นผู้ผลักดันร่วมกับชาวบ้าน ได้ฉายภาพให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ว่า ชาวบ้าน 7 ชุมชนมีอาชีพหลักคือเกษตรกร เป็นหมู่บ้านต้นน้ำแต่ไม่มีน้ำใช้ บางปียังส่งผลกระทบให้บางหมู่บ้านต้องซื้อน้ำดำรงชีพ จากวันนั้นถึงวันนี้ 20 ปี ที่ราษฎรใน 7 หมู่บ้าน ต้องเผชิญกับความไม่ยั่งยืน ยามฤดูน้ำหลากพื้นที่ทำกินจะจมอยู่ใต้น้ำ
ครั้นย่างเข้าสู่เดือน มี.ค.น้ำที่กักเก็บไว้ในฝายจะแห้งขอด ส่งผลให้ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค รวมไปถึงภัยแล้งที่เกิดซ้ำซากเป็นประจำ จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องของภาคประชาชน ผ่านสภาองค์กรบริหารส่วนตำบล เมื่อปี 2542 โดยมติในที่ประชุม คือการขอสนับสนุนจากกรมชลประทาน ที่จะสร้าง 'อ่างเก็บน้ำแม่ตายละ' ซึ่งเป็นหนึ่งในสายธารที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน
จากความร่วมมือสมัครสมานของคนในชุมชน ในปี 2562 หรืออีก 20 ปี ทางหน่วยงานราชการได้มีการผลักดันมาเป็นลำดับ จนเกิดเป็นรูปธรรมในการสำรวจพื้นที่ และได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความน่าจะเป็นของการเดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ
'พระครูวรวรรณวิวัฒน์' ได้เน้นย้ำความจำเป็นว่า "ชุมชนในพื้นที่ชุมชนตำบลโหล่งขอด อยู่ทางทิศใต้ อ.พร้าว แต่กลับไม่มีอ่างเก็บน้ำที่จะช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลย" ดังนั้นหากความฝันของคนในชุมชนเกิดขึ้นจริง จะเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน
"อำเภอพร้าวและตำบลโหล่งขอด ก้าวย่างทุกอย่างด้วยความสามัคคี โดยเฉพาะพื้นที่ที่เราจะสร้างอ่างเก็บน้ำ เราขับเคลื่อนทุกอย่างด้วย 5 ภาคี ประกอบไปด้วย พระสงฆ์, ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน, องค์การบริหารส่วนตำบล,กลุ่มแม่บ้านและส่วนราชการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นำมาซึ่งความสำเร็จตั้งแต่การดูแลป่า 187,000 ไร่ ก็ขับเคลื่อนด้วยองค์กร 5 ภาคี คือการทำความเข้าใจให้กับคนทุกระดับ ในตำบลและอำเภอ เสียงสะท้อนภาพลบในการสร้างอ่างเก็บน้ำในครั้งนี้ ตั้งแต่เราได้รับปัญหาทุกข์มา ชาวบ้านทุกคนพร้อมใจและยินดีที่จะผลักดันและขอความสนับสนุนจากภาครัฐ เราไม่มีการทะเลาเบาะแว้ง เพราะเราต่างเห็นทุกข์ และเราพร้อมที่จะออกจากทุกข์ไป" พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ตอกย้ำความกลมเกลียวของคนในชุมชน
เมื่อทุกคนในชุมชนมองเห็นปัญหาร่วมกัน การทำประชามติจึงเกิดขึ้น ผู้ได้รับผลประโยชน์ต่างเห็นดี ผู้ได้รับผลกระทบต่างยอมเสียสละ 132 ครัวเรือน ยินดีที่จะย้ายพื้นที่การทำเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก
ณ ลานเอนกประสงค์ ยามบ่ายของวันที่ 10 มิ.ย.2563 นาทีประวัติศาสตร์ของคนในชุมชนกำลังจะเกิดขึ้น โดยมีการจัดปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ รับฟังบรรยายความเป็นมา ความต้องการ ความจำเป็นและสรุปผลการศึกษา ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่กว่าร้อยคนได้พร้อมใจกันยกมือสนับสนุนในการผลักดันโครงการ ให้สำเร็จที่เฝ้ารอมา 20 ปี
"เรายินดีที่จะได้รับผลกระทบ จากการสร้างอ่างเก็บน้ำ" ถ้อยคำจากนายยงยุทธ ศรีออน ตัวแทนเกษตรกร ได้กล่าวเสริมว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องอ่างเก็บน้ำมากที่สุด เพราะจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร และแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลบวกต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต
ขณะที่ 'นพวรรณ บัวหอม' บอกว่า "สนับสนุนเต็มที่เลยเจ้า" แม้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่เธอได้ออกเสียงสนับสนุน เพราะปัจจุบันอาชีพหลักของเธอคือเกษตรกร หากน้ำมีไม่เพียงพอก็ไม่สามารถทำสวนได้ เมื่อมีอ่างเก็บน้ำลูกหลานในอนาคต ก็จะมีน้ำใช้สานต่ออาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ก่อเกิดความเจริญในพื้นที่ได้
'โหล่งขอดโมเดล' เป็นแบบแผนการสร้างกติการ่วมกันของคนชุมชน ต.โหล่งขอด เพื่ออนุรักษ์ปกป้องผืนป่าเกือบ 180,000 ไร่ จากการรุกคืบเข้ามาทำลายป่า โดย พระครูวรวรรณวิวัฒน์ เล่าย้อนไปว่าในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้มีการบุกรุกเข้ามาตัดไม้ทำลายป่า และรุกเข้าเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา
ดังนั้นจึงมีการหารือร่วมกันภายใต้ข้อกำหนด 5 ภาคี เพื่อนำศาสตร์พระราชาเข้ามาฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ และพัฒนาแหล่งทำกิน สอดรับไปกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องกล่อมเกลาคนในชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีกฎเกณฑ์บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนทั้งเรื่องเกี่ยวกับการบุกรุกป่าและยาเสพติด ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันบูรณาการเฝ้าระวังการทำลายผืนป่า
"เขื่อนดิน 700 ล้านบาท ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ 130 ล้าน"
ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ชี้ว่าสำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เกินกว่า 500 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปัจจุบันได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ พร้อมเดินตามกระบวนการตามกฎระเบียบทางกฎหมายต่อไป
โดยกรมชลประทานวางแผนการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละไว้ในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการสร้างเขื่อนดิน 700 ล้านบาท กำหนดกรอบเวลาสร้างถึงปี 2569 สำหรับเงินชดเชยเยียวยาและการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ตั้งไว้ที่ 130 ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือน หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำสำเร็จ จะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ดีขึ้น