สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มพบในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยเริ่มที่ประเทศบอตสวานา และระบาดไป 5-6 ประเทศใกล้กันบริเวณแอฟริกาใต้ มีการตรวจเจอในคนเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล ทั้งที่บางคนได้รับวัคซีนครบแล้ว และขณะนี้ทยอยมีข่าวพบสายพันธ์นี้ในนักเดินทางในประเทศอื่นๆ อีก เช่น ออสเตรเลีย อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี ขณะที่เนเธอร์แลนด์อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ผู้โดยสารเครื่องบินที่กลับจากแอฟริกาใต้ ติดโควิด 61 คนนั้นเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สายพันธุ์โอมีการกลายพันธุ์ 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่บนโปรตีนหนามที่จับกับเซลล์มนุษย์ มีการสันนิษฐานว่า อาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้ และจากการตรวจพบในพื้นที่ระบาดสะท้อนว่าไวรัสตัวนี้อาจแพร่ติดเชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ข้อมูลในสนามจริงยังมีไม่มากพอ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป ซึ่งองค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อรายงานว่ามีการแพร่กระจายไปที่ไหน
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้เดินทางจาก 63 ประเทศเข้าระบบ Test & Go ไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกา แต่กระทรวงสาธารณสุขจะประสานโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศจากทุกระบบ ส่งตัวอย่างผลบวกทั้งหมดมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่
สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1-27 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 116,323 ราย พบติดเชื้อ 149 ราย คิดเป็น 0.13% เฉพาะวานนี้ (27 พ.ย.) เดินทางเข้ามา 6,115 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อทุกรายถูกส่งเข้าระบบการรักษาพยาบาลและส่งตรวจหาสายพันธุ์เพื่อการเฝ้าระวัง โดย 10 ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุดคือ USA เยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส UAE และสิงคโปร์
หากดูเฉพาะที่ข้อมูลผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศไทย ที่ผ่านมาจำนวนทั้งสิ้น 1,007 คน จาก 12 ประเทศ แบ่งเป็น บอตสวานา 3 คน นามิเบีย 16 คน แองโกลา 22 คน มาดากัสการ์ 7 คน เมอร์ริเซียส 27 คน แซมเบีย 5 คน เอสวาตินี 39 คน เอธิโอเปีย 45 คน โมซัมยิก 12 คน มาลาวี 2 คน แอฟริกาใต้ 826 คน และซิมบับเวย์ 3 คน เป็นการเข้ามาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ยังไม่พบว่ามีนักท่องเที่ยวติดเชื้อโควิด
EOC สั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง และย้ำให้ทุกจังหวัดกำกับติดตามมาตรการ VUCA นั่นคือ Vaccine ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง, Universal Prevention ป้องกันตนเองตลอดเวลา สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง, Covid Free Setting Area สถานบริการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์, ATK ตรวจทุกครั้งที่ใกล้ชิดคนติดเชื้อ/มีอาการสงสัย
ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับ Omicron variant (B.1.1.529)’ ระบุข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันอีกเสียงว่า การกลายพันธุ์ลักษณะนี้ไม่เคยค้นพบมาก่อนเป็นเวลานาน ในจังหวัด Gauteng ในแอฟริกาใต้ ยอดทะลุ 2,000 รายต่อวันในพื้นที่ที่มีการระบาดของเดลตาอยู่เดิม หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ แสดงว่าโอมิครอนอาจแพร่เชื้อได้เก่งกว่าเดลตามาก ซึ่งข้อมูลที่มีตอนนี้คือ สูงกว่าประมาณ 5 เท่า นอกจากนี้ตำแหน่งการกลายพันธุ์ของโอมิครอนอาจส่งผลให้เกิดการดื้อทั้งวัคซีนและระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทั้ง BioNTech และ Moderna ประกาศว่าจะรายงานผลการทดสอบได้ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
รายละเอียดโพสต์ดังกล่าว มีดังนี้
1. B.1.1.529 ถูกพบและรายงานเป็นครั้งแรกจากทีมนักวิจัยในแอฟริกาใต้ หลังจากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่จังหวัด Gauteng ข้อมูล genome ของไวรัสถูก upload ขึ้น GISAID ตั้งแต่ 11-23 พย. ที่ผ่านมาโดย sample มาจาก Botswana (4), Gauteng (77) และ Hong Kong (1)
2. การศึกษารหัสพันธุกรรมสร้างความกังวลให้นักวิทยาศาสตร์ เพราะ Omicron มีการสะสมการกลายพันธุ์ (mutation) มากจนน่าตกใจทั่ว genome เฉพาะ spike gene อย่างเดียวพบมากกว่า 30 mutations หลายตำแหน่งคล้ายกับที่พบใน VOC ก่อนหน้านี้ทั้ง Alpha, Beta และ Delta
3. การพบ mutation จำนวนมากแบบนี้ โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับ variant ที่พบมาก่อนในช่วงเวลาใกล้เคียง เมื่อดู branch diagram พบว่า variant ที่ใกล้เคียงสุดมีรายงานเมื่อ พ.ค. ปีที่แล้ว แสดงว่า variant นี้ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนเป็นเวลานานมาก อาจเป็นเพราะว่าการระบาด/แพร่เชื้อเกิดในพื้นที่ที่ไม่มีการตรวจหรือทำ surveillance ที่ดี (พื้นที่ห่างไกลในแอฟริกา) เลยไม่มีการติดตาม หรือเกิดการติดเชื้อเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้เชื้อยังคงอาศัยอยู่และแบ่งตัวสะสม mutation ไปเรื่อย ๆ ก่อนแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
4. ข้อมูลการระบาดใน Gauteng แม้จะยังมีระยะเวลาไม่นานและจำนวนการทำ genome surveillance ไม่มากนัก แต่การระบาดที่เร็วในพื้นที่ที่มี Delta variant อยู่เดิม ตอนนี้ทะลุ 2,000 รายต่อวัน แสดงว่า Omicron อาจมีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อเหนือ Delta ถ้าข้อมูลต่อจากนี้ไป ยังคงมีแนวโน้มแบบเดิม แสดงว่า Omicron มี transmissibility advantage เหนือ (คือแพร่เก่งกว่า) Delta หลายเท่า (ข้อมูลเบื้องต้น ณ ตอนนี้ประมาณได้ราว 5 เท่า)
5. การพบ mutation บน spike จำนวนมาก และมากกว่า mutation ในส่วนอื่นของ genome อาจส่งผลให้เกิดการดื้อทั้งวัคซีนและ monoclonal antibody (immune evasion) คงต้องมีการทดสอบในแลปอีกทีว่าจะเป็นยังไง ข่าวว่าทั้ง BioNTech และ Moderna ประกาศว่าจะรายงานผลการทดสอบได้ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วน monoclonal antibody ทั้งหลายก็คงต้องทดสอบด้วยว่ายังเอาอยู่หรือไม่ เนื่องจาก mutation จำนวนมากนี้อาจทำให้ antigen ของเชื้อฉีกห่างออกไปจาก original Wuhan มาก และมากกว่า Beta ซึ่งทำให้ดื้อได้มาก
6. ยาต้านไวรัส ณ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล ถ้าดูตามกลไกการออกฤทธิ์แล้ว Molnupiravir อาจไม่มีผลนัก แต่ยา Protease inhibitor ของ Pfizer ยังมีโอกาสดื้อได้จากการเกิด mutation ในยีน M1Pro นี้ คงต้องรอดูผลการทดสอบในแลป
7. ข่าวดีอย่างหนึ่งของ Omicron คือพบว่ามี mutation บน spike ที่เรียกว่า Δ69-70 (amino acid ตำแหน่ง 69-70 หายไป 2 ตัวเหมือน Alpha variant) ซึ่งทำให้การทำ qPCR บางแลปตรวจไม่พบ S gene เรียกว่า S gene target failure (SGTF) กราฟบนคือ ORF กลางคือ N และล่างคือ S เห็นชัดว่า detect ไม่ได้ SGTF นั้นเดิมพบเฉพาะ Alpha variant ทำให้ติดตามสายพันธุ์นี้ได้โดยไม่ต้องทำ full genome sequencing ในปัจจุบัน Alpha แทบสูญพันธุ์หมดแล้ว แลปจึงสามารถใช้ SGTF เป็นตัวคัดกรอง Omicron variant ได้โดยไม่ต้องทำ genome sequencing ทุกรายซึ่งช้ากว่าและค่าใช้จ่ายสูง ผู้ที่ติด COVID ทุกรายที่แลปพบ SGTF ควรยืนยันด้วย sequencing ว่าเป็น Omicron หรือไม่
8. ตอนนี้คาดได้ว่า Omicron คงกระจายออกไปหลายประเทศในแอฟริกาแล้ว (จาก poor surveillance) และหลายประเทศนอกแอฟริกาก็ตรวจพบแล้วเช่น Belgium, Hong Kong (รายที่ Belgium มีประวัติเดินทางไป Egypt และ Turkey แต่ไม่ได้ไปพื้นที่รายงาน) ทุกประเทศคงต้องยกระดับการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และเป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นความสำคัญของ genome surveillance ที่ต้องทำต่อเนื่อง