ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภา มีมติถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ให้อำนาจ สว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นผู้เสนอ ออกจากระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา

วันนี้ (29 สิงหาคม 2567) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 29 ส.ค. 67 ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุมได้พิจารณาวาระเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ยกเลิกมาตรา 272) ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน กับคณะ เป็นผู้เสนอ โดยค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 4 ส.ค. 66 โอกาสนี้นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าตนเองในฐานะตัวแทนของนายชัยธวัช ขอชี้แจงเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสนอเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 มีสาระสำคัญเพื่อยกเลิกมาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง สามารถมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เป็นความพยายามในขณะนั้นที่ต้องการให้การเลือกนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้สิ้นสภาพไปเรียบร้อยแล้ว 

ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาจึงขอเสนอให้ที่ประชุมถอนระเบียบวาระดังกล่าวออกจากวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 

ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่าตนเองคาดหวังว่า ในอนาคตจะไม่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีก และต้องการให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาบ่อยครั้งมากขึ้น เนื่องจากมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล จึงจำเป็นต้องอาศัยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการแก้ไข

ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนเองเห็นด้วยกับการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่ง สว. มีที่มาตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ได้หมดวาระไปแล้ว การให้อำนาจ สว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรเกิดขึ้นอีก ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาจากเสียงของประชาชน และคาดหวังว่าจะเห็นความร่วมมือของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภากล่าวว่าข้อเสนอในการขอถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยเมื่อไม่มีข้อขัดแย้งจากสมาชิกรัฐสภา จึงขอถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวออกจากระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามข้อเสนอของนายพริษฐ์