ไม่พบผลการค้นหา
บุคคลระดับ Influencer ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ร่วมเปิดตัวผ่านคลิปสั้นระบุ ตั้งใจจะให้เป็น Social Movement ที่รวมตัวของกลุ่มคนหลากหลายวิชาชีพ เพื่อร่วมหาทางออกให้กับประเทศซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา วีรพร นิติประภา ดวงฤทธิ์ บุนนาค พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ภูมิธรรม เวชชยชัย และนักการศึกษารุ่นใหม่อย่าง พริษฐ์ รักตะพงษ์ไพศาล เปิดตัวแบบลำลองผ่านคลิปสั้น เผยแพร่ในเพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย ร่วมกันอธิบายความเป็นมา และจุดมุ่งหมายของกลุ่ม CARE ซึ่งตั้งใจจะให้เป็น Social Movement ที่รวมตัวของกลุ่มคนหลากหลายวิชาชีพ เพื่อร่วมหาทางออกให้กับประเทศซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีกว่ากระทรวงไอซีทีกล่าวว่า ขณะนี้เป็นวิกฤตที่รุนแรงมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องการประชาชนจากหลากหลายอาชีพมาร่วมมือหาทางออก

“ตอนนี้เป็นวิกฤตที่ผมคิดว่ามันรุนแรงครั้งหนึ่งที่อาจจะไม่เคยเจอมาก่อนเลยในชีวิต...ผมคิดว่าเป็นเวลาที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม อาชีพไหนก็ตาม คงจะต้องมาร่วมมือกันช่วยเหลือที่จะหาทางออกให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เราต้องการความร่วมมือร่วมใจของทุกคน

“ผมคิดว่าการเกิดขึ้นของกลุ่มแคร์ จะนำมาสู่การร่วมมือร่วมใจกัน การคิดร่วมกัน การขับเคลื่อนต่างๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาฝ่าวิกฤตร่วมกัน ผมคิดว่าถ้าหากร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ ปัญหาต่างๆ สามารถแก้ได้ เราสามารถทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นอยู่อย่างเดียวเท่านั้นนั่นคือการยอมหัวให้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและวิกฤตทั้งมวล”

ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า กลุ่ม 'แคร์' (CARE) เป็นกลุ่มคนที่มาร่วมมือกัน จากคนหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายสาขา อายุ เพื่อร่วมมือกันใช้ศักยภาพที่มีในการสร้างสิ่งที่ดีให้กับประเทศ

“เรามาร่วมกันในบนพื้นฐานที่สังคมเราไร้ความหวัง ไร้อนาคต สิ่งที่เรากำลังจะมาทำวันนี้คือเราอยากจะให้พลังของคนไทยทั้งหมด ศักยภาพที่มีอยู่ของคนไทยทั้งหมดมาร่วมกันเพื่อจะสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย

“วันนี้คุณคือทางออกของสังคมไทย เรามาร่วมมือร่วมใจกัน จับไม้จับมือกันและเราจะร่วมกันคิด ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยให้ไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรม ลดความเลื่อมล้ำและมีความเป็นประชาธิปไตยที่เคารพในความเห็นที่แตกต่างกันของคนทุกคน”

สมาชิกก่อตั้ง CARE  กล่าวอธิบายจุดมุ่งหมายของกลุ่ม 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ว่ามีปัจจัย 3 ประการที่จะฝ่าวิกฤต คือ

1. เรื่องความคิดริเริ่มแนวทางในการแก้ปัญหาซึ่งจะต้องมีหลากหลายและต้องรู้จักหยิบใช้อย่างถูกต้อง

2. การจัดการนำเอาความคิดที่ถูกต้องอาจจะถูกหรือผิดแล้วแต่มาทดลอง แล้วนำมาจัดการไปบรรลุสู่ผลสำเร็จแก้ปัญหาด้วยกัน

3. การมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะในสังคมของเราเป็นของร่วมกัน ดังนั้น ทุกคนจึงควรจะเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ นำไปสู่ความสำเร็จในการฟันฝ่าอุปสรรคและวิกฤตของประเทศในครั้งนี้

เชื่อมั่นประเทศฝ่าวิกฤตด้วยศักยภาพของประชาชน

ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดังระบุว่า เชื่อมั่นในความสามารถของประชาชนในการร่วมมือฝ่าวิกฤตของประเทศ

“ผมเชื่อในความสามารถของประชาชน ผมเชื่อในความสามารถของผู้คน ผมคิดว่าการที่เรายืนขึ้นมาจากชีวิตของผู้คนมันสามารถทำอะไรได้อีกมากมายเหลือเกิน ก็ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มนี้ด้วยความตั้งใจที่จะเอาศักยภาพของตัวเองเข้ามาช่วยในการทำให้ประเทศนี้เดินไปข้างหน้าต่อได้ในภาวะที่มันดูเหมือนเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงของประเทศก็เป็นความตั้งใจที่อยากเห็นประเทศเราดีขึ้นเหมือนกับทุกๆ คน

“ความตั้งใจของกลุ่มที่ผมมองเห็นคือเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของความเป็นไปของประเทศในทางที่มันพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นจุดร่วมเดียวกันของทุกคนในประเทศนี้ที่อยากเห็นประเทศไทยเจริญขึ้น ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้บอกว่ามันมีอะไรที่เขาทำผิดพลาด แต่มันมีอะไรอีกหลายอย่างที่เขายังไม่ได้ทำ และเราคิดว่าเราน่าจะเป็นจุดที่กำหนดให้เขาทำได้”

วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรท์ ระบุว่าในฐานะประชากรคนหนึ่งคิดว่า คนทุกคนควรจะมีส่วนร่วมในการคิดหาทางออกว่าเราจะเดินไปยังไงหลังจากนี้ หรือเราจะประคองกันอย่างไรในช่วงวิกฤตินี้ ที่สำคัญเราอยากเห็นประเทศนี้เป็นแบบไหน

พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ กล่าวถึงความคาดหวังในการเข้าร่วมกลุ่ม CARE  ว่า ต้องการผลักดันประเด็นการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ

“หลายๆ คนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือที่เราเรียกว่า social change โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่เราต้องเจอกับทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมือง โดยสำหรับผมนั้นรากฐานสำคัญของชาติคือการศึกษา โดยสำหรับผม การศึกษานั้นคือสิ่งสำคัญที่เราจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า” พริษฐ์ กล่าว

ถึงเวลาแปรฉันทามติด้านประชาธิปไตยเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม

ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและนักวิจารณ์ เจ้าของนามปากกา “คำ ผกา” ระบุว่ากลุ่มแคร์เป็น civic movement เป็นกระบวนการขับเคลื่อนสังคมโดยกลุ่มภาคประชาสังคม

“สำหรับแขกซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์การเมืองไทยมาเกือบ 20 ปี...ไม่มีครั้งไหนเลยที่สังคมไทยเริ่มมี awareness เรื่องประชาธิปไตยอย่างชัดเจนเท่านี้มาก่อน

“ในปีนี้แขกมั่นใจว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจแล้วว่ามิติของการเมืองของประชาธิปไตย มิติของคุณภาพชีวิต ของพลเมือง มันแยกกันไม่ออก เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาที่พลเมืองอย่างเรา เราในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยควรจะออกมาขับเคลื่อนสังคมไทยและประเทศไทยของเราให้ก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยก่อนเป็นอันดับแรก แล้วหลังจากนั้นเรื่องอื่นๆ มันจะเริ่มถักทอมาเป็นพลังของพลเมืองด้วยกัน” 

สำหรับกิจกรรมแรกของกลุ่มแคร์ คือการจัดเสวนาประเด็นเศรษฐกิจ "150 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด" ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าประเทศกำลังจะเผชิญวิกฤตครั้งสำคัญ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย บรรยง พงษ์พานิช ดวงฤทธิ์ บุนนาค ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งจะจัดขึ้นที่ Voice Space ถนนวิภาวดีรังสิต วันที่ 17 มิ.ย. 2563 เวลา 14.00-16.00 น.