ไม่พบผลการค้นหา
"พิธา" เสนอรัฐ ตัดหนี้-ตัดรายจ่าย-เติมสภาพคล่อง ให้คนไทยได้ตั้งหลัก แนะ 4 ข้อ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าจำเป็น พักหนี้บ้าน-กยศ.-ธกส. 3 เดือน ช่วยค่าจ้างแรงงานช่วงกักตัวร้อยละ 75 นาน 3 เดือน ปลดล็อกผู้ซื้อกองทุน LTF ขายออกก่อนกำหนดได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า ตอนนี้พวกเรากำลังเผชิญวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นวิกฤตที่ไม่ใช่แค่ของคนไทย แต่กระทบคนทั่วโลก และกระทบทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุขเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่พวกเราเผชิญอยู่จึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต และจะกินเวลายาวนานข้ามปีหรือมากกว่านั้น 

วิกฤตตรงหน้าคือการระบาดของโรค COVID-19 และวิกฤตที่ซ้อนอยู่คือวิกฤตเศรษฐกิจ ที่จากเดิมประเทศไทยไม่มั่นคงอยู่แล้วจะถูกซ้ำเติมให้แย่ลงไปอีก นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

มากไปกว่านั้น วิกฤตที่ซ้อนกันอยู่เป็นวิกฤต "ไม่ธรรมดา" ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจทั่วไปที่พวกเราเคยเจอ ดังนั้นจะไม่สามารถคลี่คลายด้วยการแก้ปัญหาแบบเดิม ที่ทำจนเคยชินอย่าง เช่น การแจกเงิน แต่คือการต้องคิดนอกกรอบ และใช้นโนบาย "ไม่ธรรมดา" เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาและเยียวยาประชาชนได้ครบทุกกลุ่ม


เศรษฐกิจโรค - เศรษฐกิจโลก - เศรษฐกิจไทย

รายงานการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อย่างน้อย 32 ล้านล้านบาท และในสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 64 ล้านล้านบาท ในกรณีนี้การเติบโตของ GDP โลกจะเหลือเพียงร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกที่หยุดชะงักและราคาน้ำมันที่ผันผวนยังยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกตื่นตระหนกไปทั้งโลก

สัญญาณวิกฤตที่กำลังจะตามมา

ระเบิดเวลาที่กำลังตามวิกฤต COVID-19 มาคือวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาด COVID-19 ในตอนนี้ UNCTAD รายงานว่ายุโรปจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างแน่นอนในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และเศรษฐกิจที่เปราะบางมากเป็นพิเศษคือเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่ง OECD ได้หั่นประมาณการเติบโต GDP เหลือร้อยละ 0.3 เยอรมนียังประสบกับปัญหาหนี้เสียของ Deutsche Bank ที่ได้เริ่มปลดพนักงานออกจำนวนมากตั้งแต่ปีที่แล้ว ตลอดจนภาคการผลิตของประเทศก็หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา

อิตาลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากที่สุด และในปีนี้ GDP จะเติบโตเหลือเพียงร้อยละ 0.0 ซึ่งวิกฤติจากยุโรปก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกาจะเติบโตเหลือร้อยละ 1.9 ญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 0.2

เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยไม่เข้มแข็ง จึงต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก วิกฤตที่ยุโรปและญี่ปุุ่นจึงจะสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยได้อย่างใหญ่หลวง ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ประเมินว่า GDP ไทยปีนี้จะติดลบร้อยละ 2.4 ซึ่งเปรียบเทียบได้กับวิกฤตต้มยำกุ้งปีแรกที่ติดลบร้อยละ 3.2 (ปีถัดมาติดลบร้อยละ 7.2)

วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้เข้ามาซ้ำเติมระเบิดทางเศรษฐกิจหลายลูกที่คนไทยต้องดิ้นรนต่อสู้กันมาก่อนแล้ว และเพียงแค่ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงก็สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย 3 แสนล้านบาท นี่ยังไม่รวมถึงปัญหา การขาดรายได้ของคนที่ต้องหยุดอยู่กับบ้าน การขาดสภาพคล่องของธุรกิจขนาดเล็ก และความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ จากห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเรื่องค่าเงิน เมื่อรวมผลกระทบทุกอย่างแล้ว หากเรายังดำเนินนโยบายแบบกล้าๆ กลัวๆ จะกลายเป็นว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย


ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับประเทศไทย

ระดับความใหญ่หลวงของวิกฤตที่คนไทยดิ้นรนต่อสู้อยู่ทุกวันนี้ ต้องรับมือด้วยมาตรการที่ทะเยอทะยานและตรงจุดมากเพียงพอ เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนที่ยากลำบากรู้สึกว่ามาตรการช่วยเหลือนั้นเป็นรูปธรรมและมีนัยยะสำคัญ ณ ขณะนี้ไม่ใช่เวลาแบ่งฝ่ายว่าใคร ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล คนไทยต้องเป็นหนึ่งเดียว ต้องตัดหนี้ ตัดรายจ่าย เติมสภาพคล่อง และนี้คือ 4 ไอเดีย (Policy ideas) ที่รัฐไทยไม่ได้ประกาศ แต่อาจช่วยให้คนไทยตั้งหลักได้ โดยการนำไปใช้จริงต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์

1.ลดหรืองดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าจำเป็นนอกเหนือจากสินค้าที่ได้ยกเว้นตามประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจะรวมถึง น้ำ นม ยารักษาโรค อาหารสำเร็จ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านต่างๆ สำหรับทำความสะอาด ฯลฯ (VAT reduction & exemption) เป็นเวลา 3 เดือน (มูลค่าประมาณ 1-2 แสนล้าน) ซึงจีนและอังกฤษเป็นตัวอย่าง เพื่อช่วยประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ในเวลาอันสั้น

2.พักหนี้ระยะยาว 3 เดือน (สินเชื่อบ้าน ธกส. กยศ. สินเชื่อ SME ฯลฯ) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร นักศึกษา SME และบุคคลธรรมดาที่ต้องผ่อนบ้าน

3.รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนร้อยละ 75 นาน 3 เดือน ชดเชยค่าจ้างช่วงกักตัว ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานที่ได้รับคำสั่งให้หยุดยาว

4.ปลดล็อคให้ขาย LTF ก่อนกำหนดได้ โดยไม่เสียค่าปรับเพื่อเติมสภาพคล่องให้พนักงานออฟฟิศ ในอุตสาหกรรมที่โดน "Leave without pay"

และในตอนนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 40 ยังสามารถกู้เงินได้อีก และในตอนนี้ดอกเบี้ยยังต่ำ เปรียบเสมือนการกู้เพื่อซ่อมบ้านก่อนจะพังทั้งหลัง

นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ก็ต้องเผชิญกับความผันผวนจากค่าเงินในระดับโลก เนื่องจากในปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น บาทอ่อนลง เนื่องจากนักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินเข้าสู่ Safe Haven เพื่อความปลอดภัย เมื่อเงินดอลลาร์แพงขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกอิงกับดอลลาร์ ราคาก็จะแพงขึ้นทั่วโลกและอุปสงค์ลดลง ประเทศไทยจึงมีแนวโน้มที่จะส่งออกสินค้าเกษตรได้น้อยลง

แต่เมื่อวิกฤติต่างๆ ในโลกบรรเทาลง นักลงทุนก็จะย้ายเงินออกมาจาก Safe Haven ผนวกกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้มาตรการการเงินแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงอาจอ่อนค่ากลับลงมาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เกษตรกรไทยยังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี น้ำในเขื่อนเหลือไม่ถึงร้อยละ 10-20 น้ำไม่ถึงไร่นา นี่คือความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ และภาครัฐมีความจำเป็นจะต้องมองไปข้างหน้าเพื่อให้รับมือต่อเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

"ผมขอให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้พร้อมกลับมาฟูมฟักโอกาสที่กำลังจะมาถึงอีกครั้ง นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากของพวกเราทุกคน เป็นช่วงเวลาที่เราคงห้ามความเครียดหรือห้ามน้ำตาไม่ได้ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นขอให้มีสติ ไม่ท้อไม่ถอย วิกฤตนี้พวกเราจะผ่านมันไปได้ เหมือนที่มนุษยชาติเคยผ่านวิกฤตครั้งอื่นๆ กันมา" นายพิธา ระบุ