ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเติม ในส่วนงบกลางรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น วงเงิน 883 ล้านบาท ให้กับสํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการจัดทําพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) สำหรับระยะที่ 3
ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรร งบกลาง รายการเงินสํารองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น สําหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการจัดทําพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ในระยะที่ 1 เป็นเงิน 95 ล้านบาท เพื่อรองรับประชาชนราว 4,200 คน ขณะที่ได้งบระยะที่ 2 อีก 97 ล้านบาท สำหรับรองรับประชาชนในจำนวนเท่าเดิม หรือคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 192 ล้านบาท และดูแลประชาชนไปแล้ว 8,400 คน ยังเหลือที่ยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอีกจำนวน 19,577 คน
รองโฆษกฯ ชี้ว่า ตลอดช่วงเวลาการดำเนินการที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7 มี.ค. - 30 มิ.ย. 2563 ได้มีการจัดตั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ โดยใช้สถานที่ราชการ จํานวน 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน จํานวน 31 แห่ง รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการ กักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ จํานวน 27,977 คน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งประมาณการจํานวนคนไทยในต่างประเทศที่มีความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. - 31 ส.ค. 2563 ล่าสุดมีจํานวน 22,470 คน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
กระทรวงกลาโหมจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดําเนินการ จัดทําพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ส่วนที่ยังไม่ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น จํานวน 42,047 คน ในวงเงิน 902 ล้านบาท ซึ่ง ครม.มีมติจ่ายเพียง 883 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดค่าใช้จ่าย รองโฆษกฯ แจงว่า เม็ดเงินส่วนใหญ่ประมาณ 747 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ใช้กับค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของผู้ถูกกักกันโรค และเป็นค่าตอบแทนบุคลากร อีก 32 ล้านบาท รวมถึงค่าวัสดุการแพทย์ ค่าจ้างเหมา และค่าใช้จ่ายยานพาหนะในภารกิจโควิด-19 อื่นๆ