การจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง โดยขาย “โต๊ะจีน” ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินสืบเนื่องมายาวนาน จนอาจเรียกได้ว่า เป็นวัฒนธรรมการเมืองชุดหนึ่งของไทย “กำนันสุเทพ” จัดดินเนอร์เมื่อ 18 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จำนวน 240 โต๊ะ ขายโต๊ะละ 1 ล้านบาท กวาดเงินเข้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ไปกว่า 240 ล้านบาท นี่เป็นตัวเลขเฉพาะที่ปรากฎอย่างเป็นทางการ และบางโต๊ะอาจบริจาคมากกว่า 1 ล้านบาท
ให้หลังหนึ่งวันเป็นคิวดินเนอร์ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคที่เนื้อหอมที่สุดที่กลุ่มทุนใหญ่จากทุกทิศพร้อมให้การสนับสนุน เห็นได้จากโต๊ะจีนกว่า 200 โต๊ะ ได้ถูกจองล่วงหน้าหมดก่อนวันงาน ขณะที่บางโต๊ะก็ได้บริจาคมากไปกว่าที่ขอ คือเกินกว่า 3 ล้านบาท กวาดเงินเข้าพรรคพลังประชารัฐ ไปกว่า 650 ล้านบาท
เหนือไปจากรายได้เข้าพรรค คือการปรากฎตัวของบรรดาพรรคการเมืองพันธมิตร ที่พอจับทางได้ว่า นี่คือโครงร่างของ “รัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ฝ่ายเผด็จการกำลังใฝ่ฝันถึง ในวันที่พรรคกำนันสุเทพจัดงาน มีตัวแทนพรรคการเมืองร่วมงานในค่ำคืนนั้น ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐพลจากพรรคพลังประชารัฐ นายองอาจ จากพรรคประชาธิปัตย์ และ คนตระกูลลิปพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนา เข้าร่วมงาน
ในวันที่พรรคพลังประชารัฐจัดงาน มีตัวแทนพรรคการเมืองร่วมงานไม่ขาดสาย ทั้ง สุวัจน์ ลิปพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนา นายองอาจ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา นัยยะของการร่วมงานสะท้อนให้เห็น กลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีแนวโน้มเกาะกลุ่มกันหลังการเลือกตั้ง
คำถามถึงโต๊ะจีน ? : รัฐ - ทุนใหญ่ - พรรคการเมือง
“อิศรา” เปิดประเด็นถึงโซนที่นั่งในการจัดงานวันนั้น พบว่า โซนสีเหลือง ระบุว่า “คลัง” จำนวน 20 โต๊ะ คิดเป็นเงิน 60 ล้าน ขณะที่โซนสีเหลืองเข้ม ระบุว่า “ททท” จำนวน 3 โต๊ะ คิดเป็นเงิน 9 ล้านบาท รวมยอดเงินจากสองโซนนี้ ทะลุ 70 ล้านบาทไปแล้ว เฉพาะข้อมูลชุดนี้ นำไปสู่คำถามถึงการใช้อำนาจรัฐเข้าไปสนับสนุนพรรคการเมืองทันที!! ยิ่งประวัติในเรื่องนี้ของพรรคพลังประชารัฐไม่ค่อยดีอยู่แล้วด้วย ทำให้ประเด็นดังกล่าว ถูกขยายออกไปไกล ชนิดที่ ไม่ว่า “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” จะปฏิเสธอย่างไร ก็ยั้งบทสนทนาของสังคมไว้ไม่อยู่มือแล้ว
“วีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ชี้ว่า “งานระดุมทุนพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมา โต๊ะจีนราคา 3 ล้านบาท โต๊ะหนึ่งมี 10 ที่นั่ง ตกที่นั่งละ 3 แสนบาท ต้องตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ (รัฐมนตรี และข้าราชการ) จำนวนเท่าใดที่เข้าร่วมงานนี้ และซื้อบัตรเข้าร่วมงานเองหรือมีผู้ออกเงินให้ หากอ้างว่ามีคนอื่นออกเงินให้จะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับเงินเกิน 3 พันบาทหรือไม่ แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐซื้อบัตรเข้างานเองจะต้องตรวจสอบว่า ใช้เงินจากไหนมาซื้อบัตรที่นั่งละ 3 แสนบาท”
อดีต กกต. ม.44 “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ชี้ว่า “ต้องพิสูจน์ก่อนว่าคำว่า คลัง คือกระทรวงการคลัง หรืออักษรย่อ ททท.เป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือไม่ หากเป็นจริงก็ถือว่าเป็นความผิดชัดเจน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานของรัฐจะเอาเงินหลวงซึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินมาซื้อโต๊ะในงานระดมทุนเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง อย่างนี้ผิดกฎหมายแน่นอน”
ทั้งยังมีพรรคใหญ่ออกมาร่วมตั้งคำถามกันไม่ขาดสาย “เดอะมาร์ค” ชี้ว่า "ขอให้โปร่งใส …. ต้องมีการแสดงว่าใครเป็นคนที่ซื้อโต๊ะ ซึ่งถือเสมือนเป็นผู้บริจาค เขาต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาค สื่อก็ไปตรวจสอบได้ว่าใครไปนั่งกินบ้าง กรณีของพปชร.มีประเด็นว่า ต้องให้มั่นใจด้วยว่าไม่มีการเอาตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลไปใช้ในการระดมทุน"
ขณะที่ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ชี้ว่า “พรรพลังประชารัฐควรจะรู้จริยธรรม มารยาท และความเหมาะสมในการวางตัวทางการเมือง และควรศึกษาว่าถ้าจะเป็นนักการเมืองที่ดีต้องทำตัวอย่างไร การที่พรรคเปิดขายโต๊ะละ 3 ล้านบาท เป็นการตบหน้าประชาชน เพราะรัฐบาลนี้แจกเงินประชาชนผ่านบางโครงการหัวละ 500 บาท แต่กลับมานั่งกินอาหารหรู หัวละ 3 แสน คำละ 3 พันบาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนจนไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้างานหรือมีส่วนร่วม สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ”
คำถามทั้งหมด นำมาสู่ การแสดงบทบาทของ กตต. ว่าจะออกมาตรวจสอบกรณีดินเนอร์ 650 ล้านของพรรคพลังประชารัฐแน่นอน ทว่าจะหวังได้หรือไม่ การปฏิบัติตัวที่ผ่านมา คงพอเป็นแนวคำตอบได้อยู่พอสมควร
อีกคำถามที่ซ่อนไว้ในกิจกรรมระดมทุนผ่านโต๊ะจีน ซึ่งเพียงค่ำคืนเดียวกวาดเงินเข้าพรรคพลังประชารัฐได้มากถึง 650 ล้านบาท ยังเป็นการสะท้อนให้เห็น สายสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มทุนกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะต่อกรณีพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มีรากฐาน-แนวดำเนินการที่ชัดเจน จาก “ทีมสมคิด-รัฐมนตรี 4 กุมาร” ที่มีภาพใกล้ชิดกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ อย่างมาก เพราะทำงานร่วมกันแนบแน่นผ่าน “โปรเจคพลังประชารัฐ” มาร่วมสี่ปีกว่า
เป็นสายสัมพันธ์ที่ชวนตั้งคำถามไปถึง ความพยายามของรัฐ ในการผลักดันนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่-ทุนผูกขาด เฉพาะกรณี “บัตรคนจน” ก็เกิดคำวิจารณ์ไปทั้งเมืองว่า ถึงที่สุดเงินไหลเข้ากลุ่มทุนใดเป็นหลัก ?
เป็นสายสัมพันธ์ที่ชวนตั้งคำถามว่าตลอดสี่ปีที่ผ่านมา “รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน” รับใช้-รับผิดชอบต่อคนกลุ่มใดในประเทศเป็นพิเศษ เมื่อปรากฎว่า ในปีนี้ ประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในโลก แซงหน้าอินเดีย และรัสเซีย โดยเมื่อ 2 ปีก่อน คือปี 2559 คนไทย 1% มีทรัพย์สินรวม 58% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ แต่มาปีนี้คนไทย 1% มีทรัพย์สินเพิ่มเป็น 66.9% (CS Global Wealth Report 2018)
ขณะที่ตัวเลขของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ตอกย้ำถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่คนทุกระดับชั้นเผชิญอยู่ได้ดี
4 ปีที่ผ่านมา…
หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.79 ล้านล้านบาท สู่ระดับ 12.3 ล้านล้านบาทในปีปัจจุบัน
ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดกลางต่างประสบปัญหาอย่างหนัก เห็นได้จากตัวเลขหนี้เสีย SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท สู่ระดับ 2.29 แสนล้านบาทในปีปัจจุบัน
หนี้เสียเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.79 หมื่นล้านบาท สู่ระดับ 5.88 หมื่นล้านบาทในปีปัจจุบัน
สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกลุ่มทุนใหญ่-กลุ่มทุนผูกขาด กับ พรรคพลังประชารัฐ จึงชวนย้อนกลับไปตั้งคำ��ามถึง “นโยบายประชารัฐ-ปฏิบัติการประชารัฐ” ทั้งหมด ว่า ตอบสนองต่อผลประโยชน์ต่อใครในประเทศนี้มากที่สุด ? และพวกเขาจัดวางผลประโยชน์ของประชาชนไว้ตรงไหน ?
“เก้าอี้เปล่า” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์”
วานนี้ อดีตรัฐมนตรี “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็น 1 ในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ในเวทีการประชุมพรรคเพื่อไทย เขาย้ำถึง 9 ความล้มเหลวของการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น หนี้คนไทยท่วมหัว, หนี้ธุรกิจท่วมตัว, เกษตรกรทุกข์ยาก, นักท่องเที่ยวหายรายได้หด, เงินทุนไหลออกนอกประเทศไม่หยุด, สู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้,ใช้เงินเก่งแต่หาเงินไม่เป็น,ปัญหายาเสพติดหนักหน่วง และปัญหาคอรัปชั่นในยุคที่ไม่มีนักการเมือง เขาย้ำถึงการบริหารโดยทีมมืออาชีพที่พร้อมเข้ามาแก้ไขวิกฤตินี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมทำหน้านั้นในการพาประเทศเดินออกจากความล้มเหลวนี้
เมื่อพิธีกรเอ่ยชื่อให้ชัชชาติขึ้นสู่เวทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ เขาถือเก้าอี้เปล่าตัวหนึ่งขึ้นเวที และวางมันไว้ด้านซ้ายมือของเขาบนเวที โดยที่ผู้ฟังคงกำลังฉงนในใจว่า ชัชชาติจะใช้เก้าอี้ตัวนั้นสื่อสารถึงอะไรกันแน่ ? จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 20 นาที ชัชชาติ ค่อยๆบอกเล่าถึงความสำคัญของ “เก้าอี้” ที่เขาถือมาวางไว้บนเวที
ชัชชาติชี้ไปที่เก้าอี้เปล่าตัวนั้น แล้วย้ำว่า “จะทำอะไร ต้องคิดถึงคนสำคัญที่สุดที่ไม่ได้อยู่ห้องนี้.. คนสำคัญที่สุด ไม่ใช่คุณหญิงสุดารัตน์ ไม่ใช่ท่านหัวพรรค แต่คือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้”
“ผมเอาเก้าอี้มาตั้งตรงนี้ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้พวกเราว่า ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องคิดถึงคนสำคัญที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ ... เราต้องเอาประชาชนเป็นหลัก เราต้องสร้างโอกาสให้ประชาชน ให้เขาเข้มแข็ง ประเทศของเราจะพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ไม่ยาก
“ไม่ใช่การแจกเงิน เพราะการแจกเงิน มันแค่ระยะสั้น แต่เป็นการสร้างโอกาสแบบที่เราเคยทำมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สามสิบบาทรักษาทุกโรค โครงการ OTOP กองทุนหมู่บ้าน การสร้างโอกาสจะทำให้คงอยู่ตลอดไป โจทย์สำคัญคือ เราจะสร้างโอกาสอย่างไร จะเอาประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างไร ? จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างไร ?”
จะสนใจแต่เก้าอี้ที่รายล้อมรอบโต๊ะจีนอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว!!