นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ยอดการการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 585,407 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,958 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 และสูงกว่าเป้าหมาย 1,007 ล้านบาท โดยในส่วนของประเภทรายได้การจัดเก็บภาษีสูงสุด 6 อันดับแรก คือ ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ภาษีเบียร์ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ และภาษีเครื่องดื่ม พบว่า ภาษีสุราในปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บได้เพิ่มมากที่สุดอยู่ที่ 6,181 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 11.05 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงการคลังได้วางเป้าหมายให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 642,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จากปีงบประมาณ 2562 แบ่งเป็น การจัดเก็บภาษีน้ำมัน 240,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาษีรถยนต์ 138,000 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 86,000 ล้านบาท ยาสูบ 78,000 ล้านบาท สุรา 61,000 ล้านบาท และเครื่องดื่ม 20,000 ล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิต ได้มีการปรับลดเป้าการจัดเก็บรายได้ภาษีเครื่องดื่มลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการปรับลดภาษีเครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (ฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์) จาก 10-14 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพื่อช่วยดูแลสุขภาพคนไทย
ส่วนการจัดเก็บภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมีข้อโต้แย้งว่า เครื่องดื่มดังกล่าวเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการเครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอล์ และอยากได้เพียงรสชาติ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่อีกด้านก็เป็นการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็ก ดังนั้นจึงยังต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งอาจจะใช้แนวทางเปลี่ยนชื่อเรียก หรือควบคุมการจำหน่าย เนื่องจากยังมีช่องว่างอยู่
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมโยงมาตรการด้านการท่องเที่ยว กรมสรรพสามิตร ได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อนำผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มครั้งแรกในอังคารที่ 8 ต.ค. นี้ ที่ จ.นครปฐม ซึ่งในการประชุมจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในชุมชนทั้งหมด เพื่อช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น