นายรวี เล็กอุทัย สส. อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย และกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เผยถึงผลการเข้าร่วมงานเสวนาแนวทางนโยบายเพื่อร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่าด้วยการจัดการไฟป่าหมอกควันข้ามแดน และการบริหารจัดการป่าพรุอย่างยั่งยืนในประเทศไทย (Public Policy Forums and Policy Briefs on Sustainable Management of Peatland, Forest Fires, and Transboundary Haze in Thailand) ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดขึ้นที่โรงแรมแมริออท เอ็กเซ็กคิวทีฟ อพาร์ทเม้นต์ สุขุมวิท พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาว่า ตนได้เข้าร่วมการในหัวข้อ ‘ปลดล็อคทรัพยากร นวัตกรรม และกลไกการบริหารจัดการ’ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งแบ่งประเภทของต้นตอปัญหาฝุ่นควันเป็น 2 ส่วนคือ
(1) เกิดจากชุมชนเมือง ได้แก่ ภาคคมนาคม และอุตสาหกรรม
(2) เกิดจากภาคนอกชุมชนเมือง ได้แก่ ภาคการเกษตร และป่าไม้ ทั้งนี้ ภาคการเกษตรและป่าไม้จำเป็นต้องนำเทคโนโลยี อย่างเช่น การใช้ภาพถ่ายทางอากาศและโดรน เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหา เนื่องจากการใช้หน่วยงานลาดตระเวนอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถดูแลป่าได้อย่างยั่งยืน
นายรวี กล่าวว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ในประเด็นผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ที่มุ่งเน้นเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษ จะไม่เพียงมุ่งแต่บทลงโทษ แต่จำเป็นต้องคิดควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) ให้คนปรับพฤติกรรมและเต็มใจเข้ามาร่วมกันลดการเผาและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเน้นย้ำถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาเรื่องหมอกควันอย่างจริงจังและหลัก Rules of Work ใน พ.ร.บ. อากาศสะอาดที่จะเป็นกลไกในการตรวจสอบว่านโยบายและกฎต่างๆ มีการบังคับใช้จุดประสงค์ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่ออากาศสะอาดของคนไทยทุกคน
“สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยวของไทย ดังจะเห็นได้จากการเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 และจะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ สถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่องมาหลายปี ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพ่อแม่พี่น้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสำคัญ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงมิติความเข้าใจในธรรมชาติและวิธีปฏิบัติของชาวบ้านควบคู่ไปด้วย รวมไปถึงการให้ความรู้ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านถึงผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงจากการเผา” สส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทยกล่าว