ไม่พบผลการค้นหา
แรงบันดาลใจ และ การทำกำไรจาก 'เครื่องหมายการค้า' และ 'ทรัพย์สินทางปัญญา' ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจมากขึ้นในประเทศไทย

ภาพวาดภายใต้ชื่อ "พระพุทธรูปอุลตร้าแมน" ที่จัดแสดงในนิทรรศการ "เต๊อะเติ๋น'' งานแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างถึงความเหมาะสมของศิลปะและศาสนา อย่างไรก็ตาม สังคมอาจต้องทำความเข้าใจประเด็น 'เครื่องหมายการค้า' และ 'ทรัพย์สินทางปัญญา' จากกรณีนี้ได้เช่นเดียวกัน

จิตรกรรมดังกล่าวประกอบไปด้วยภาพวาดจำนวน 4 ภาพ โดยมีถึง 2 ภาพ ที่จิตรกรเลือกใช้ลายโมโนแกรม ที่ออกแบบโดย 'จอร์จ วิตตอง' ลูกชายของ 'หลุยส์ วิตตอง' ผู้ก่อตั้งแบรนด์ 'หลุยส์ วิตตอง' 

โดยปกติแล้วศิลปินจะได้รับอิสระในการหยิบสิ่งต่างๆ มาเป็นแรงบันดาลใจในงานของตน แต่หากผลงานดังกล่าวถูกนำมาสร้างผลกำไรให้กับตัวจิตรกรได้แล้ว กรณีเช่นนั้นอาจนับเป็นความผิดฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้เช่นเดียวกัน 

แม้งานแสดงผลงานนักศึกษาดังกล่าวจะไม่ได้มีขึ้นเพื่อมุุ่งหวังผลประโยชน์ทางการตลาดที่อาจกระทบกับแบรนด์นั้นๆ แต่ข้อความจากเฟซบุ๊ก ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่โปรโมทงาน "เต๊อะเติ๋น" ช่วงหนึ่งก็ระบุว่า "ภายในงานมีการจำหน่ายผลงานศิลปะ เพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษา"


เต๊อะเติ๋น

ขณะเดียวกัน 'หลุยส์ วิตตอง' แบรนด์เครื่องหนังฝรั่งเศสชื่อดัง ได้เขียนแถลงเรื่อง 'การปกป้องแบรนด์' ไว้อย่างเป็นทางการบนหน้าเว็บไซต์ โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า 

"ด้วยความเคารพในความคิดสร้างสรรค์และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา หลุยส์ วิตตอง มีนโยบายไม่อ่อนข้อให้กับการปลอมแปลงสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น การปลอมแปลงเป็นการละเมิดความอัจฉริยะและทักษะด้านช่างฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินที่อยู่ภายใต้ความสำเร็จของหลุยส์ วิตตอง"

ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอาจยังไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปให้ความสนใจนัก แต่สถิติคดีในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่น้อย โดยสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารายปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร ปี พ.ศ. 2562 ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม มีทั้งสิ้น 2,574 คดี และมีของกลางถึง 612,910 ชิ้น 

กรณีตัวอย่างที่ศิลปะพ่ายแพ้ต่อลิขสิทธิ์

เว็บไซต์ International Law Office รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2561 ศาลพาณิชย์กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ตัดสินให้ Moët Hennessey Champagne Services (MHCS) เจ้าของแบรนด์แชมเปญชื่อดังอย่าง ดงเปรีญง (Dom Pérignon) เป็นผู้ชนะคดีที่ศิลปินชาวเบลเยียมนำภาพวาดที่มีรูปขวดแชมเปญคล้ายกับของแบรนด์ ไปพัฒนาเป็นลายเสื้อกันหนาวและเสื้อยืด 

โดยเสื้อกันหนาวและเสื้อยืดในลวดลายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อโปรโมทภาพวาดที่มีส่วนประกอบหนึ่งเป็นขวดแชมเปญดงเปรีญง อีกทั้งศิลปินคนดังกล่าวยังตั้งชื่อผลงานและคอลเลคชันเสื้อดังกล่าวว่า "ดงเปรีญงคอลเล็กชัน" พร้อมอธิบายว่า ตนเลือกชื่อนี้เพราะ 'ดงเปรีญง' เป็นแบรนด์ที่ 'เจ๋ง' มาก

โดยคำตัดสินของศาลชี้ว่าศิลปินพยายามเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมต่อแบรนด์ซึ่งสั่งสมชื่อเสียงมานาน ด้วยการใช้เครื่องหมายการค้าของแบรนด์ และการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ตัวเครื่องหมายการค้าและชื่อเสียงของแบรนด์เสื่อมคุณค่าลง  

ในช่วงสรุปของคำตัดสิน ศาลชี้ว่าเป้าหมายของศิลปินคือการเอาเปรียบทางการตลาดและสร้างการจดจำให้กับสินค้าของตน ไม่ใช่การแสดงออกทางศิลปะแต่อย่างใด จึงนับเป็นความผิด 

ความคิดเห็นของอดีตนักศึกษาศิลปะ

'สิริวิช สดประเสริฐ' อดีตนักศึกษา คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ว่า ปกติแล้วถ้ามีการซื้อขายผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการหยิบยืมของผู้อื่นมา ย่อมมีความผิดอยู่แล้ว แต่เจ้าของผลงานจะเดือดร้อนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานนั้นๆ "ว่าเขาจะเอาเรื่องเอาราวไหม"

'สิริวิช' เสริมว่า ในการทำงานศิลปะในชั้นเรียนหรืองานส่วนตัว มักจะมีการหยิบยืมสิ่งต่างๆ เข้ามาสร้างผลงานเป็นธรรมชาติของการสร้างผลงานอยู่แล้ว มีทั้งการหยิบยืมรูปร่างของธรรมชาติ หยิบยืมหลักการต่างๆ รวมไปถึงการหยิบยืมความคิด หรือ สิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากผู้อื่น ซึ่งปัญหามันอยู่ที่ว่าการหยิบยืมสิ่งที่ผู้อื่นคิดมานั้น จำเป็นต้องได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของผลงานอย่างถูกต้องภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย หรือ การสร้างผลงานเพื่อการศึกษารวมไปถึงการสร้างผลงานส่วนตัวที่ไม่มีการชื้อขายที่มีผลกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนตัวผลงานที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสม 'สิริวิช' มองว่า เป็นเพียงการแสดงออกทางความคิดที่นักศึกษาศิลปะนั้นพึงมีกันทุกคน และมองว่างานชิ้นนี้น่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อบทบาทของรูปเคารพและหน้าที่ของรูปเคารพในศาสนาพุทธ 

อย่างไรก็ตาม 'สิริวิช' เสริมว่า ในการทำงานทุกครั้งตนคิดว่าการตั้งคำถามที่ตรงไปตรงมาอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ อาจจะต้องมีชั้นเชิง และ ความชัดเจนในการตั้งคำถามด้วย


"เหมือนเราสงสัยต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจึงตั้งคำถามต่อสิ่งนั้น เพื่อที่จะต้องการคำตอบ" สิริวิช กล่าว


'สิริวิช' ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีคนมายืนมองหน้าเรา แล้วเราสงสัยว่ามองหน้าเราทำไม แล้วถ้าเราตอบไปว่า “มองหน้ามีอะไรรึเปล่าครับ” ด้วยใบหน้าอันดุร้าย แทนที่จะบอกว่า "มีอะไรให้ช่วยรึเปล่าครับ” ด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้ม ก็อาจจะทำให้เกิดเรื่องกันได้ ตนจึงมองว่าชั้นเชิงและวิธีการในการแสดงออกของผลงานเป็นส่วนสำคัญมากๆ ต่อประเด็นที่เกิดขึ้น