ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันเสาร์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่า เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้แล่นเข้าท้าทายการอ้างสิทธิ์ของจีนใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองในสัปดาห์นี้

คำแถลงของกองเรือที่ 7 ระบุว่า เรือติดขีปนาวุธนำวิถียูเอสเอส เบนโฟลด์ แล่นเข้าใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ในเขตทะเลจีนใต้ โดยกองเรือที่ 7 เรียกปฏิบัติดังกล่าวว่าเป็น "ปฏิบัติการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ" (FONOP) อีกทั้งปฏิบัติการของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในหมู่เกาะที่มีป้อมปราการทางทหารของจีนประจำอยู่ ได้ท้าทาย “ข้อกำหนดการผ่านทางโดยสุจริต ที่กำหนดโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม และไต้หวัน” 

จีน เวียดนาม และไต้หวัน ต่างอ้างว่าเรือที่แล่นผ่านต้องได้รับอนุญาต หรือแจ้งล่วงหน้าก่อนที่เรือทหารจะ “ผ่านทางโดยสุจริต” ตามเส้นทางในทะเลอาณาเขตของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้ “ทะเลอาณาเขต” หมายถึงน่านน้ำภายในระยะ 12 ไมล์ทะเลจากแนวชายฝั่งของแต่ละประเทศ

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไนเอง ก็ต่างอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่คำแถลงของกองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุว่าเรือรบของตนท้าทายการอ้างสิทธิ์ใดๆ ของประเทศเหล่านี้หรือไม่

ปฏิบัติการ FONOP ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่แล้วที่สหรัฐฯ ท้าทายความพยายามอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือหมู่เกาะในปีนี้ และนับเป็นครั้งที่สองสำหรับเรือเบนโฟลด์ ที่แล่นผ่านใกล้หมู่เกาะในช่วงสี่วันที่ผ่านมา 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ค.) เรือเบนโฟลด์ได้ปฏิบัติภารกิจแบบเดียวกันนี้ในหมู่เกาะพาราเซล ในตอนเหนือของทะเลจีนใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อหมู่เกาะซีชาในภาษาจีน ซึ่งเวียดนามและไต้หวันอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าวเช่นกัน

ปฏิบัติการ FONOP ของสหรัฐฯ ที่เกาะพาราเซลในวันพุธ (13 ก.ค.) ส่งผลให้ทางการจีนมีท่าทีที่โกรธเกรี้ยว โดย ผู้พัน เทียน จุนลี่ โฆษกของกองบัญชาการทหารภาคใต้ กล่าวว่า “การกระทำของกองทัพสหรัฐฯ ละเมิดอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของจีนอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่บ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของทะเลจีนใต้อย่างมาก เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง” 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ค.) กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) กล่าวว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ กำลังเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค “ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าสหรัฐฯ เป็น 'ผู้ก่อให้เกิดความเสี่ยงในทะเลจีนใต้' และ 'เป็นผู้ขัดขวางสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค' อย่างชัดเจน” 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้ตอบโต้ว่า การที่จีนและประเทศอื่นๆ อ้างสิทธิทางทะเลมากเกินไป "เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพในทะเล ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือ การบิน การค้าเสรี และเสรีภาพแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ"

ตลอดเวลาที่ผ่านมา จีนได้กลับมาอยู่ภายใต้การจับจ้องของสหรัฐฯ และพันธมิตรอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ในแถบอินโดแปซิฟิกอย่างจริงจัง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน โดยสหรัฐฯ ย้ำเตือนว่าจีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอันดับแรกที่ต้องคำนึงถึงของภูมิภาคอินโดแปซิฟืกและโลก


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/07/16/asia/us-navy-freedom-of-navigation-spratly-islands-south-china-sea-intl-hnk-ml/index.html?fbclid=IwAR3nkUDy564u3DN04KsIaHvBAGHrIZF8zcD1OmhRgcZD6O36Swu32D-P4Ow