ไม่พบผลการค้นหา
อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ชี้การแก้กฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ส่อทุจริตการประมูลร้านค้าปลอดอากรในสนามบิน

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก้ไขพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยในวรรคท้ายในมาตรา 7 ที่ระบุว่า “กิจการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จําเป็นเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ของการดําเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” นั้น ปรากฏว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ได้ลงนามประกาศขายแบบให้สิทธิการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์ไปก่อนที่ ครม. จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้หน่วยงานปฏิบัติ (กฎหมายลูกยังไม่ออกมาบังคับใช้) อีกทั้งกระทำการเกินขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และกฎหมายหลายฉบับ เพื่อจะเร่งประมูลโครงสร้างร้านค้าปลอดอากรโครงการร้านค้าเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ นายชาญชัยตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เร่งรีบแก้ไขโดยคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ที่เดิมกำหนดไว้ว่า โครงการใดที่ลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทจะต้องให้หลายหน่วยงานรัฐร่วมพิจารณาและไม่ให้หน่วยงานเดียวกันอนุมัติหรืออนุญาต 

โดยนายชาญชัยยกถึงเจตนารมณ์เดิมในการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2535 ว่า เพื่อเป็นเหตุผลในการที่จะไม่ให้บุคคลเดียว หรือหน่วยงานเดียวไปอนุมัติในเรื่องสำคัญให้กับบุคคล หรือนิติบุคคล หรือเอกชนที่จะมาร่วมลงทุน ดังนั้นการออกกฎหมายดังกล่าวจึงมีการกำหนดอัตราวงเงินการร่วมลงทุนหากมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องให้คณะกรรมการ ประกอบด้วยมาตรา 13 ให้มีอีก 7 หน่วยงานเข้าไปร่วมตัดสินใจ และร่วมตรวจสอบด้วย ต่อมาปี 2556 ได้มีการแก้ พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ยังคงยึดหลักการเดิมในมาตรา 35 ที่ยังคงยึดวงเงินร่วมลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ยังคงให้คณะกรรมการร่วมในการพิจารณาอนุมัติซึ่งจะประกอบด้วย ตัวแทนสำนักงานงบประมาณแผ่นดิน สำนักงานสภาพัฒน์ฯ สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน รวม 7 คน ขณะที่ พ.ร.บ. ร่วมทุนปี 2556 มีแก้ไขผู้อนุมัติโครงการจากเดิมที่ให้ ครม. เป็นผู้อนุมัติ ได้แก้ไขมาเป็นการให้รัฐมนตรีสามารถอนุมัติโครงการได้ 

นายชาญชัยกล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีการเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของกฎหมายจากเดิมที่ใช้วงเงิน 1,000 ล้านบาทในการพิจารณานั้น มีการเปลี่ยนรูปแบบไปโดยเฉพาะเรื่องท่าอากาศยาน และการขนส่ง หากมีวงเงิน 5,000 ล้านบาท จึงจะเข้าข่าย พ.ร.บ. ฉบับนี้ นอกจากนี้ในวรรคท้ายของมาตรา 7 ระบุว่า กิจการตามวรรค 1 ให้รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องอันที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการของกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. 

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์.jpg

“ทั้งหมดที่จะทำอะไรใน 12 เรื่องตามที่ พ.ร.บ. นี้กำหนด ไม่ว่าจะสนามบิน ท่าอากาศยาน จะให้เขามาลงทุน ให้สัมปทาน เอาทรัพย์สินไปให้เช่า แล้วเรียกเก็บผลประโยชน์ร่วมกันจากการขายสินค้า ทั้งหมดถ้าเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับสนามบินหรือไม่ หากเกี่ยวเนื่องกัน แล้วเป็นประโยชน์กับสาธารณะ และใช้ทรัพย์สินของรัฐไปใช้ หากวงเงินเกิน 5,000 ล้านบาท คณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นผู้สรุปและไปขอความเห็นชอบจาก ครม. ถึงจะดำเนินการต่อไปได้” 

ทั้งนี้นายชาญชัย ยังได้กล่าวถึงกฎหมาย พ.ร.บ. ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ มีการระบุว่า กิจการท่าอากาศยานหมายถึงกิจการที่ขึ้นลงของสนามบิน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการบิน รวมตลอดถึงการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก อันเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งหมายรวมถึงร้านค้าต่างๆ ในสนามบินหากมีความจำเป็นต่อผู้ใช้บริการสนามบิน ก็ต้องถือว่าเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องที่จะทำให้สนามบินนั้นเป็นสนามบินที่สมบูรณ์ เป็นห้องรับแขกใหญ่ได้ 

นอกจากนี้ยังมี พ.ร.ก. ที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องการให้อำนาจการท่าอากาศยานไปใช้อีกด้วย ซึ่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวระบุว่า กิจการของท่าอากาศยานนั้นเป็นการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับท่าอากาศยาน และรวมทั้งผู้โดยสาร ลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจในท่าอากาศยาน ตลอดจนการให้บริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกัน หรือต่อเนื่องกับกิจการดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นหากท่าอากาศยานจะทำอะไร เรื่องเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกันหมดกับสนามบิน ฉะนั้นมีสนามบินไม่ว่าจะมี หรือไม่มีร้านค้าปลอดอากร หรือจะมีร้านขายอาหารให้ผู้ใช้บริการสนามบินหรือไม่ ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น

ทั้งนี้ นายชาญชัย ได้ยกเอาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ได้ตัดสินคดีที่อยู่ในความดูแลของท่าอากาศยาน ที่สนามบินเชียงใหม่ ถึงกรณีที่เคยมีข้อพิพาทในการเช่าพื้นที่ลานจอดรถ และแบ่งรายได้จากการเรียกค่าเช่าพื้นที่ ศาลฯ มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญานี้ว่า คดีนี้มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนที่มาใช้บริการ ณ ท่าอากาศเชียงใหม่ 

“จะเห็นได้ชัดว่า เคยมีข้อพิพาท และมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดว่า ถ้าจะเช่าอาคาร ลานจอดรถ หรืออะไรก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการมาให้บริการประชาชนทั้งหมด จะเห็นได้ชัดว่าทั้งข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่ปรากฎมาแล้วนี้เคยมีการตัดสินมาแล้ว” นายชาญชัยกล่าว

พร้อมกันนี้นายชาญชัยยังได้ยกคำพิพากษาศาลแพ่ง ที่ตัดสินคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 โดยศาลยกฟ้องตน ซึ่งในคำพิพากษาระบุถึงการได้มาของสัญญาคิงเพาเวอร์ตั้งแต่เริ่มแรกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากบริษัทที่ปรึกษามาทำให้ข้อเท็จจริงของราคาประเมินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท นำมาสู่กระบวนการ หน่วยงานการท่าอากาศยานเป็นผู้อนุมัติ โดยศาลแพ่งวินิจฉัยว่าข้อมูลดังกล่าวนี้เกิน 1,000 ล้านบาท จึงเป็นหน้าที่คณะกรรมการที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของการท่าอากาศยาน 

แม้แต่คดีที่ศาลอาญา ซึ่งเป็นคดีหมิ่นประมาทนั้น ศาลฯ ก็มีคำวินิจฉัยว่าการได้มาของสัญญานั้น มีการทำสต็อคสินค้าคงคลัง มีวงเงิน 3,000 ล้านบาท มีการหลีกเลี่ยงการใช้ พรบ.ร่วมทุน ปี 2535 เพื่อให้ได้สัญญานั้นไม่ชอบเกิดขึ้นจนวันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ศาลอาญาตัดสินว่า การท่าอากาศยานเป็นรัฐวิสาหกิจโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 70 ถือว่าเป็นทรัพย์สินของประเทศ และจำเลยในคดีนี้ซึ่งหมายถึงตนให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์และตรวจสอบจากคณะกรรมการ และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายที่ได้รับการแต่งตั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะกระทำได้เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และสะท้อนความเป็นไปของสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้องอันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหนทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต

นายชาญชัยกล่าวยืนยันว่า เอกสารทั้งหมดนี้ที่ได้นำมานี้ แสดงให้เห็นว่าในอดีตมีการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อหาประโยชน์มาโดยตลอด จนปัจจุบันก็ยังมีความพยายามหลีกเลี่ยงเช่นเดิมเพื่อนำไปสู่การโกงหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมีการโกงเกิดขึ้น จนกระทั่งวันนี้เรื่องเก่ายังไม่ยุติ แต่ยังมีความพยายามสร้างเรื่องใหม่ โดยทำแบบเดิมอีก ทั้งนี้จะได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ้างบริษัทที่ปรึกษา และมีการล็อกสเปกอย่างไรในโอกาสต่อไป