พล.อ.ต.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ให้ความเห็นกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมปรับระบบบริการปฐมภูมิใหม่ในพื้นที่ กทม. โดยการเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลมาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในระบบบัตรทองอีก 500 แห่งทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ตลอดจนมีกลุ่มโรงพยาบาลรับส่งต่อ 2-3 แห่งในโซนนั้นๆ โดยกล่าวว่าโรงพยาบาลภูมิพลฯ แม้เป็นโรงพยาบาลทหาร แต่เข้าร่วมให้บริการกับ สปสช.ตั้งแต่ยุคแรก ถือเป็นโรงพยาบาลใหญ่ในโซนเหนือของ กทม. ดูแลเขตหลักสี่ บางเขน สายไหม ดอนเมือง รองรับประชากรกว่า 3 แสนคน
ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่ให้บริการมีคนไข้มารับบริการจำนวนมากวันละนับพันราย โรงพยาบาลจึงได้รับคลินิกเอกชนเข้ามาเป็นเครือข่าย 25 แห่งเพื่อกระจายคนไข้ไปรักษาในหน่วยปฐมภูมิใกล้บ้าน ปรากฎว่าสามารถลดจำนวนผู้ที่มาโรงพยาบาลได้ 80% อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะกระจายคนไข้ไปแล้ว แต่หลักการคือโรงพยาบาลยังให้คำมั่นสัญญาว่าผู้ป่วยยังคนไข้ของโรงพยาบาลอยู่ โรงพยาบาลจะรับผิดชอบในเรื่องการดูแลคุณภาพของหน่วยบริการเครือข่าย การวางระบบส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าถ้าต้องส่งต่อคนไข้ก็จะมีโรงพยาบาลรองรับ อีกทั้งยังมีการรักษาโรคร่วมกับคลินิกเครือข่านในหลายๆโรค เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง เป็นต้น ดังนั้นหัวใจสำคัญของการปฏิรูประบบปฐมภูมิของ สปสช.ครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้คนไข้ได้รับบริการที่ดีขึ้น ถ้า สปสช.สามารถกระจายคลินิกให้มากขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคดีขึ้นจริงๆ จำนวนผู้ที่ต้องมานอนที่โรงพยาบาลก็จะลดลง
"ตอนนี้เป็นปัญหาว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความหนาแน่นมาก หวังว่าโมเดลนี้จะช่วยดึงดูดโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมมากขึ้น อย่างโรงพยาบาลภูมิพลฯ ตั้งอยู่โซนตอนเหนือของ กทม. ซึ่งไม่ค่อยมีโรงพยาบาลรัฐแล้ว หากระบบใหม่ของ สปสช. สามารถเพิ่ม Capacity โรงพยาบาลอื่น เช่น โรงพยาบาลเอกชน ให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ก็จะแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยในได้มากขึ้น" พล.อ.ต.ทวีพงษ์ กล่าว
พล.อ.ต.ทวีพงษ์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่อยากเห็นคือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ เช่น เรื่องใบส่งตัวจากคลินิกปฐมภูมิไปโรงพยาบาลรับส่งต่อ ซึ่งข้อมูลในใบส่งตัวจะมี 2 ส่วน คือข้อมูลการรักษากับข้อมูลสิทธิ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ยืนยันเรื่องสิทธิการรักษาเสียมากกว่า ดังนั้นถ้าสามารถเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ ส่งข้อมูลสุขภาพจากคลินิกเข้าโรงพยาบาลและทำเรื่องการยืนยันสิทธิด้วย ก็น่าจะลดการใช้ใบส่งตัวลง 90% แต่ตกลงกันในเครือข่ายให้เรียบร้อยว่า Flow จะเป็นอย่างไร หวังว่าถ้าปฏิรูประบบใหม่แล้วทำแบบนี้ได้ทั้ง กทม.ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก
ด้าน สุจิน รุ่งสว่าง อนุกรรรมการหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 กทม. กล่าวว่า การยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเอกชนหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงนี้ประชาชนได้รับผลกระทบ ซึ่งทาง อปสข. หน่วย 50(5) และเครือข่ายภาคประชาชนได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับพี่น้องเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและกังวลเกินไป และหากมองไปในอนาคตหวังว่าการปฏิรูประบบปฐมภูมิในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้จะพูดเรื่องคลินิกชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจ แต่ก็ไม่เกิดจริง ประชาชนหลายคนอยู่ในพื้นที่หนึ่งแต่ไปได้สิทธิการรักษานอกพื้นที่ ดังนั้นหวังว่าเมื่อมีการปรับระบบบริการแล้วประชาชนจะได้สิทธิในการใช้บริการในพื้นที่ที่อาศัยจริงๆ เพื่อให้การเข้าถึงบริการสะดวกขึ้น ไม่ต้องเสียค่าเดินทางข้ามพื้นที่อีกต่อไป
สุจิน ยังย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนว่าจะทำให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ได้ และตามแผนปฏิรูประบบบริการครั้งนี้จะมีศูนย์บริการสาธารณสุขจะเป็นแม่ข่าย ซึ่งทางหน่วย 50 (5) ภาคประชาชนก็จะเข้าไปร่วมมือช่วยทำงานเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักแก่หน่วยบริการ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพต่อไป