ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็น 'ผู้ลี้ภัย' กลายเป็นเรื่องร้อนแรงระหว่างประเทศ จากกรณี 'วันเฉลิม' นักกิจกรรมชาวไทยถูกอุ้มหายในกัมพูชา 'วอยซ์ออนไลน์' จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ 'ผู้ลี้ภัย' ในหลักสากลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้

เมื่อเดือน ก.ย.2562 ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยผลสำรวจสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลก พบว่าปี 2561 มีผู้ลี้ภัย, ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นในประเทศ รวมแล้วมากกว่า 70.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี โดยตัวเลขผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงง่ายๆ 

UNHCR จำแนกความแตกต่าง รวมถึงแจกแจงสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนทั้ง 3 ประเภทต้องหนีจากประเทศของตัวเอง พร้อมอธิบายว่าเพราะเหตุใด คนกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความคุ้มครองด้านกฎหมาย


ผู้ลี้ภัย หรือ refugee 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ UN Refugee หนึ่งในองค์กรภายใต้ UNHCR ระบุว่า ผู้ลี้ภัย (refugee) คือกลุ่มคนที่ถูกบีบบังคับด้วยสภาพแวดล้อมให้ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสงครามความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรงในสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย เพราะตกเป็นเป้าของความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง รวมถึงการข่มเหงที่เข้าข่าย 'ละเมิดสิทธิมนุษยชน' ซึ่งประเด็นเหล่านี้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา เชื้อชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง และการเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือองค์กรทางสังคมบางกลุ่ม ถ้าหากคนเหล่านี้ไม่ลี้ภัย อาจต้องเสี่ยงอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต

ส่วนรายงานของ UNHCR เมื่อปีที่แล้วระบุว่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่สามารถอยู่ในประเทศต้นทางของตัวเองได้ เพราะถูกคุกคามหรือตกเป็นเป้าการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่เรียกได้ว่าเป็นการ 'ลิดรอนสิทธิเสรีภาพร้ายแรง' เช่น ผู้หญิงที่อยู่ในสังคมที่มีค่านิยมขลิบอวัยวะเพศ หรือคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมจนถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่และไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลุ่มคนในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายรุนแรงในบางเรื่อง เช่น การลงโทษทางอาญากับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งถ้าเป็นประเทศที่ยึดหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชน การเลือกอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมจะไม่ถือว่าเป็นความผิด

ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยไปต่างแดนมากที่สุดตลอดปี 2561 คือ 'ซีเรีย' ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อมาหลายปี โดยสถิติผู้ลี้ภัยจากซีเรีย คิดเป็นจำนวนกว่า 12.9 ล้านคน รองลงมาคือ โคลอมเบีย, ปาเลสไตน์, อัฟกานิสถาน, เซาท์ซูดาน, ดีอาร์คองโก, โซมาเลีย, ซูดาน, อิรัก และไนจีเรีย โดยประเทศทั้งหมดนี้มีการทำสงคราม และมีการสู้รบที่เป็นอันตรายกับประชาชนธรรมดา จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่คนต้องหนีตายไปเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่น 


ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย หรือ asylum seeker 

กลุ่มคนเหล่านี้ก็คือผู้ที่หนีภัยต่างๆ จากประเทศต้นทางของตัวเอง และต้องการแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศอื่นๆ จึงต้องลงทะเบียนกับ UNHCR เพื่อขอให้รับรองสถานะการเป็น 'ผู้ลี้ภัย' และขอรับการคุ้มครองทางการกฎหมาย รวมถึงได้รับความช่วยเหลือด้านอื่นๆ

ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย หรือ asylum seeker จะต้องชี้แจงว่าความหวาดกลัวต่อการกดขี่และความรุนแรงที่เป็นภัยคุกคามจนต้องหลบหนีจากประเทศต้นทางของตัวเองนั้นมีน้ำหนักเพียงพอ

AFP-Rahaf-ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน-วัยรุ่นซาอุดีอาระเบียขอลี้ภัย.jpg

ยกตัวอย่าง กรณีของ 'ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนูน' หญิงชาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี ซึ่งถูกกักตัวไว้ที่โรงแรมมิราเคิล ทรานซิต สนามบินสุวรรณภูมิของไทย เมื่อปี 2562 เป็นหนึ่งในผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เนื่องจากราฮาฟได้ขอความช่วยเหลือโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ 'ทวิตเตอร์' โดยให้เหตุผลว่า เธอถูกครอบครัวที่ซาอุดีอาระเบียขังอยู่ในห้องนานถึง 6 เดือนเพียงเพราะเธอไปตัดผม และครอบครัวเธอมองว่า การตัดผมเป็นการทำผิดหลักศาสนา ทั้งยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการบังคับฝืนใจ จึงตัดสินใจหนีจากครอบครัว

เธอได้หลบหนีออกจากประเทศเพื่อจะไปยังปลายทางที่ออสเตรเลีย เนื่องจากขอวีซ่าได้แล้ว แต่กลับถูกทางการซาอุดีอาระเบียแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในสนามบินสุวรรณภูมิยึดพาสปอร์ต หลังจากที่เธอเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องบินที่ไทยเมื่อ 5 ม.ค.2562 โดยทางการซาอุดีฯ อ้างว่าครอบครัวของเธอแจ้งความว่าเธอหลบหนีออกจากบ้าน และต้องการนำตัวเธอกลับไปพบกับครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ราฮาฟทวีตข้อความชี้แจงว่า เธอต้องการยื่นเรื่องขอเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกับ UNHCR เพราะต้องการเดินทางไปยังออสเตรเลีย และกรณีของราฮาฟได้รับความสนใจไปทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายร่วมกันให้ความช่วยเหลือ จนท้ายที่สุด ประเทศแคนาดาประกาศรับตัวราฮาฟในฐานะ 'ผู้ลี้ภัย'


ผู้พลัดถิ่นในประเทศ หรือ internal displaced people (IDP) 

คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศของตัวเอง และไม่สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนเองได้ เพราะสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่คลี่คลาย หรือภัยพิบัติสร้างความเสียหายจนไม่สามารถกลับไปอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมได้ และต้องอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรอสถานการณ์คลี่คลาย

ด้วยเหตุนี้ UNHCR และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจึงพยายามเตือนรัฐบาลทั่วโลกว่า ตราบใดที่ปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรงในประเทศต้นทางยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะไม่สามารถยุติปัญหาผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นได้ เพราะบางประเทศ แม้จะส่งผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม เช่น อิรักและอัฟกานิสถาน แต่สุดท้ายผู้ลี้ภัยก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และต้องลี้ภัยอีกครั้ง เพราะปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตยังคงเหมือนเดิม 

วันเฉลิม กัมพูชา

ต่างชาติว่าอย่างไรกรณี 'วันเฉลิม' ?

หลังจาก 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' นักกิจกรรมชาวไทย วัย 37 ปี ถูกอุ้มหายในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ทางครอบครัวและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้ที่ต่อต้านการบังคับสูญหายชาวไทย ได้เรียกร้องให้ทางการไทยและกัมพูชาเร่งช่วยเหลือและสืบหาข้อเท็จจริงว่าใครคือผู้ที่อุ้มหาย 'วันเฉลิม'

ท่าทีในตอนแรกของทางการไทยและกัมพูชา คือ การปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง และไม่มีข้อมูลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จนกระทั่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและกลุ่มคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการอุ้มหายออกมาชุมนุมหน้าสถานทูตกัมพูชาในไทย รวมถึงมีการติดแฮชแท็กในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ #saveวันเฉลิม จนกลายเป็นกระแสยอดนิยม ทำให้ทางการไทยและกัมพูชาออกมาแถลงว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

'เขียว โสเพียก' โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา เผยกับ Khmer Times โดยระบุว่า พบประวัติ 'วันเฉลิม' เดินทางเข้าออกประเทศกัมพูชาอยู่เป็นระยะ นับตั้งแต่ปี 2557 และยื่นขอวีซ่าพำนักอาศัยในกัมพูชาในปี 2558 ซึ่งกัมพูชาก็อนุมัติวีซ่าดังกล่าว จนกระทั่งวีซ่าของ 'วันเฉลิม' หมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.2557 กลับไม่พบประวัติว่าเขามายื่นเรื่องต่อวีซ่ากับทางการกัมพูชาแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงไม่ทราบว่าวันเฉลิมอยู่ที่ไหน

หาก 'วันเฉลิม' ยังอยู่ในกัมพูชาก็แสดงว่าเป็นการอยู่เกินกำหนดวีซ่า และเป็นการพำนักอาศัยอย่างผิดกฎหมาย ทางการกัมพูชาสามารถจับกุมหรือส่งตัวกลับไทยได้ แต่เมื่อ 'วันเฉลิม' ถูกอุ้มหายไป ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีความเป็นมาอย่างไร

นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม เรียกเขาว่า 'ผู้ลี้ภัยทางการเมือง' แต่สื่อหลายสำนักในไทย เช่น เว็บไซต์ MGR Online รายงานว่า 'วันเฉลิม' คือผู้หลบหนีคดีฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีรายงานว่า'วันเฉลิม' หลบหนีไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่แท้ที่จริงอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชามาถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เขียว โสเพียก ระบุผ่านสื่อกัมพูชาว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่เคยได้รับคำร้องจากรัฐบาลไทย เพื่อขอให้จับกุม หรือส่งตัว 'วันเฉลิม' กลับประเทศแต่อย่างใด

นอกจากนี้ เมื่อปี 2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR ได้ออกแถลงการณ์ประณามคณะรัฐประหารไทยซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และระบุว่าคำสั่งของคณะรัฐประหาร (ที่ภายหลังใช้ชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.) เข้าข่ายละเมิดหลักนิติรัฐ, ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิในการชุมนุม ส่วนการสั่งปิดสื่อประเภทต่างๆ ก็เข้าข่ายละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อ

การไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จึงไม่ถือเป็นความผิดเมื่อพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ส่วนคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซึ่งทางการไทยออกหมายจับกุม 'วันเฉลิม' ในฐานะผู้จัดการเพจเฟซบุ๊ก 'กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ' ซึ่งเผยแพร่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2561 เว็บไซต์ MGR Online รายงานอ้างอิงเนื้อหาในหมายจับ ระบุว่า เขามีความผิด ฐานนำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 ม.ค.2563 ศาลตัดสิน 'ยกฟ้อง' คดีแชร์ข้อความจากเพจ 'กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ' เนื่องจากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความดังกล่าวกระทบภาพลักษณ์ คสช. เท่านั้น ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ 

ขณะที่ iLaw ซึ่งรวบรวมคดีเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 รวม 98 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา ไม่พบว่ามีชื่อของ 'วันเฉลิม' รวมอยู่ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: