เดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) กล่าวว่า มนุษยชาติกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่วิกฤตสุดที่เคยประสบในช่วงชีวิตของเรา และได้เรียกร้องให้มหาเศรษฐีระดับโลกช่วยเหลือผู้อดอยากทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน โดยชี้ว่า หากประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการอาหารโลก พวกเขาอาจจะต้องเสียชีวิตจากภาวะอดอยาก
WFP กล่าวว่า ทั่วโลกมีประชาชนเข้าสู่ภาวะอดอยากประมาณ 270 ล้านคน และทาง WFP คาดว่าปีนี้จะสามารถเข้าไปบรรเทาปัญหาให้ประชาชนได้เพียง 138 ล้านคนเท่านั้น
"เราต้องการเงินถึง 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 147,000 ล้านบาทเพื่อจัดหาอาหารสำหรับ 1 ปี และหากไม่มีการช่วยเหลือของโครงการอาหารโลกจะทำให้ประชากร 30 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากภาวะอดอยาก" บีสลีย์กล่าว
บีสลีย์ ยังกล่าวว่า ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 มหาเศรษฐีทั่วโลกราว 2,000 รายนั้นมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 24 ล้านล้านบาท และในช่วงของการระบาดของโควิดพวกเขาบางคนยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันนโยบายแห่งชาติของสหรัฐฯ (IPS) เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มหาเศรษฐีในสหรัฐฯ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 19% โดยเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของอีคอมเมิร์ชที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Amazon.com มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น36,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.08 ล้านล้านดอลลาร์หสรัฐฯ ขณะที่ซีอีโอเฟชบุ๊ก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 30,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 903,000 ล้านบาท
ขณะที่รายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า กลุ่มประเทศทางตอนกลางของทวีปแอฟริกากำลังประสบปัญหาวิกฤตทางด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะในประเทศคองโก
นอกจากนี้ยังประเมินว่าประชากรในทวีปแอฟริกากว่า 21.8 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการควบคุมการแพร่ระบาดและประกอบกับปัจจัยต่างๆ ก่อนหน้านี้ทั้งภาวะแห้งแล้ง น้ำท่วมที่ยิ่งทำให้เกิดภาวะอดอยากขยายวงกว้างขึ้น
ทั้งนี้ ในคองโกมีการสำรวจพบว่า ประชากรอยู่ในภาวะอดอยากเพิ่มขึ้นถึง 300% นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามมาด้วยประเทศไนจีเรีย โซมาเลีย และซุดาน นอกจากนี้ยังมีประชากรในอีก 55 ประเทศที่ประสบกับวิกฤตด้านอาหารมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562