ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกธนบัตร ธปท.แจง ไม่มียูไรอันแต่ปลอมแปลงยาก-ได้มาตรฐานความปลอดภัย-มีเงินสำรองหนุน-ไม่ใช่ QE-ใส่ ATM เพื่อให้ ปชช.เข้าถึงง่าย-เข้าเครื่องฝากเงินไม่ได้แต่แลกที่ธนาคารได้

นับตั้งแต่ 'ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562' ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวัน 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประเด็นเชื่อมโยงกับธนบัตรที่ระลึกใหม่นี้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มแรกกับความใกล้เคียงของสีธนบัตรที่ระลึกมูลค่า 100 บาท กับ ธนบัตรมูลค่า 1,000 บาท แบบที่ 17 ซึ่งเป็นแบบปัจจุบัน

อีกทั้งสังคมยังตั้งข้อสงสัยประเด็นที่ 'กลุ่มดาวยูไรอัน' เสมือนหายไปจากธนบัตร จนหลายฝ่ายเกิดความไม่สบายใจกับประเด็นสุ่มเสี่ยงในการปลอมแปลง เนื่องจากธนบัตรที่ระลึกใหม่นั้นสามารถถ่ายเอกสารสีได้ ขณะที่ธนบัตรแบบที่ 17 กลับถ่ายไม่ได้ ทั้งยังสามารถเข้าโปรแกรม Adobe Photoshop ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ล่าสุดประชาชนจำนวนหนึ่งยังโพสต์ความไม่เข้าใจที่ธนบัตรเหล่านี้กลับไม่สามารถฝากคืนเข้าเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติได้

ล่าสุด 'สมบูรณ์ จิตเป็นธม' ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกข้อชี้แจงต่อประเด็นที่สังคมกำลังมีความสงสัยทั้งหมด 6 ประการ

ธปท
  • 'สมบูรณ์ จิตเป็นธม' ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


ไม่มี 'ยูไรอัน' แต่ปลอมแปลงยาก

แถลงการณ์จาก ธปท.ระบุว่า EURion หรือ ยูไรอัน เป็นหนึ่งในรูปแบบของการป้องกันการคัดลอกจากเครื่องถ่ายเอกสารหรือการสแกน แต่ไม่ใช่รูปแบบที่จำเป็นหรือสำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันการผลิตเพื่อปลอมแปลง ซึ่งหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรปไม่ได้นำ EURion มาใช้ แต่เน้นที่การให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพื่อให้ประชาชนสังเกตได้ง่ายและมิจฉาชีพทำปลอมแปลงให้เหมือนของจริงได้ยาก

สำหรับธนบัตรที่ระลึกที่ผลิตในครั้งนี้ไม่ได้นำ EURion มาใช้เช่นเดียวกับธนบัตรที่ระลึกส่วนใหญ่ในอดีต แต่มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในหลายจุดและยังคงนำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงมาใช้เหมือนธนบัตรหมุนเวียนและธนบัตรที่ระลึกทุกรุ่นที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากมีการปลอมธนบัตรโดยการสแกนและพิมพ์ขึ้นมา กระดาษและหมึกที่ใช้ ตลอดจนลายน้ำนั้นจะไม่มีทางทำให้เหมือนธนบัตรจริงได้ ประชาชนสามารถสังเกตความแตกต่างได้ทันทีว่าเป็นธนบัตรปลอมด้วยการ “สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง” ซึ่งสามารถตรวจง่าย ๆ ด้วยตนเอง

ธปท.ชี้ว่า วิธีการตรวจสอบว่าเป็นธนบัตรจริงหรือไม่ ประชาชนสามารถสัมผัสความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย หรือยกส่องลายน้ำที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรชนิดราคา 100 บาทจะมองเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ และธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทจะเห็นลายน้ำอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.

ทั้งยังสามารถพลิกเอียงเห็นแถบสีม่วงแดง ที่ด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท สามารถเลื่อนขึ้นลงและเปลี่ยนสลับเป็นสีเขียว รวมทั้งภายในลายดอกพิกุลของธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท มีรูปวงกลมเคลื่อนไหวได้รอบทิศทางและเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว


ไม่มี 'ยูไรอัน' แต่ตรงมาตรฐานความปลอดภัย

ในประเด็นต่อมา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธปท.เสริมว่า ธนบัตรที่ออกโดย ธปท. แม้ไม่มี EURion แต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันการปลอมแปลงขั้นสูงและสามารถใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้

ธนบัตรทุกฉบับที่ออกโดย ธปท.สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงสามารถใช้ธนบัตรที่ระลึกทำธุรกรรมต่างๆ ในประเทศได้เหมือนธนบัตรทั่วไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย โดยในช่วงแรก ร้านค้ารวมถึงผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินอาจยังไม่คุ้นเคยเนื่องจากเป็นธนบัตรรูปแบบใหม่ แต่ต่อมาก็มีการประกาศว่ารับชำระด้วยธนบัตรที่ระลึกดังกล่าวแล้ว

สำหรับการแลกเปลี่ยนธนบัตรเงินบาทในต่างประเทศ​นั้น เงินบาทไม่ใช่สกุลเงินสากล ไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศอยู่แล้ว ธนาคารหรือผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินในต่างประเทศอาจจะรับหรือไม่รับแลกธนบัตรใดๆ ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการมีหรือไม่มี EURion แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีความต้องการทั้งด้านซื้อและขายจากลูกค้ามากพอที่จะเกิดธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน


'ธนบัตรที่ระลึก' มีเงินทุนสำรองหนุน 100%

สมบูรณ์ ชี้ว่า การออกใช้ธนบัตรของ ธปท. ไทยทุกชนิดราคา ทั้งธนบัตรหมุนเวียนปกติและธนบัตรที่ระลึกเป็นไปตามกฎหมายเงินตรา มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลัง ครบถ้วน 100%

ปัจจุบัน ธนบัตรหมุนเวียนรวมธนบัตรที่ระลึกทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนบัตรที่ระลึกในครั้งนี้ มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของปริมาณธนบัตรหมุนเวียนทั้งหมด

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบปริมาณธนบัตรออกใช้ รวมถึงทุนสำรองเงินตรา ได้จากรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของ ธปท.


ไม่ใช่การทำ QE

แบงก์ชาติยังย้ำว่า การออกธนบัตรที่ระลึกไม่นับเป็นการทำ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) ของ ธปท. โดยอธิบายว่าการออกธนบัตรหมุนเวียนรวมทั้งธนบัตรที่ระลึกเป็นการทำหน้าที่ของ ธปท.ในการบริหารจัดการธนบัตรให้มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน สำหรับใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ (รวมทั้งเก็บเป็นเงินออมหรือเก็บเป็นที่ระลึก)

ปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบถูกกำหนดด้วยความต้องการของประชาชนและธุรกิจเป็นสำคัญ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ที่ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้เงินสดมาก ธปท.ต้องออกใช้ธนบัตรมากขึ้น และเมื่อเทศกาลผ่านไป ความต้องการเงินสดของประชาชนลดลง ธปท. ก็ถอนเงินสดออกจากระบบ โดยสรุป ธปท. ไม่สามารถเพิ่มปริมาณธนบัตรออกใช้ได้ หากประชาชนและธุรกิจไม่มีความต้องการเบิกถอนเงินสดจากธนาคารพาณิชย์

ส่วนการทำ QE ในต่างประเทศนั้น เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านบัญชีของสถาบันการเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับการนำธนบัตรออกใช้แต่อย่างใด


นำธนบัตรเข้า ATM เพื่อให้ ปชช.เข้าถึงง่าย

สำหรับประเด็นเรื่องการนำธนบัตรที่ระลึกเข้าไปใส่ไว้ตามตู้ ATM แบงก์ชาติอธิบายว่า จำนวนธนบัตรที่ระลึกที่ออกมาเพื่อเก็บสะสมมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนบัตรหมุนเวียนปกติจึงบรรจุในตู้ ATM ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

โดยปกติการออกธนบัตรที่ระลึกที่ผ่านมามักจะมีจำนวนจำกัดประมาณ 10–20 ล้านฉบับ นับเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนบัตรหมุนเวียนปกติชนิดราคา 100 บาท ที่มีจำนวนประมาณ 1,700 ล้านฉบับ และชนิดราคา 1,000 บาท ที่มีจำนวนประมาณ 1,600 ล้านฉบับ

ดังนั้นการนำธนบัตรที่ระลึกใส่ในตู้ ATM มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธนบัตรที่ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าแถวเพื่อขอแลกที่สาขาธนาคารพาณิชย์


'ธนบัตรที่ระลึก' เข้าเครื่องฝากเงินไม่ได้

ธปท.ชี้ว่า การที่ธนบัตรที่ระลึกใช้กับเครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ได้เพราะต้องมีการแก้ไขโปรแกรมที่เครื่องฝากเงินอัตโนมัติทั่วประเทศ ซึ่งปริมาณธนบัตรที่ระลึกมีน้อยกว่า 1.2% ของธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั้งหมด ดังนั้น หากประชาชนต้องการแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ระลึกเป็นธนบัตรหมุนเวียนปกติ สามารถติดต่อขอแลกได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;