นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงกรณีที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้นายวิษณุ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษารองรับเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ว่า นายกฯ ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการแต่มอบหมายให้ตนเอง และพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอนายกฯว่าจำเป็นต้องมีการพิจารณาจะใช้กฎหมายใดหรือออกมาตรการอะไรมารองรับหลังจากเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความละเอียดอ่อนหากเลิกประกาศใช้ไปแล้วไม่มีสิ่งใดมารองรับจะเกิดปัญหาตามมา
ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าเมื่อถึงเวลาเกิดปัญหาแล้ว ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกครั้ง ตามมาตรา 5 ของพ.ร.ก.ที่บัญญัติว่ากรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการเองได้ก่อน จากนั้นจึงไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน หากไม่ขอ ครม.ภายในกำหนดถือว่าประกาศสถานการณ์นั้นสิ้นสุดไป
"ขอย้ำว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฎหมายแม่ที่ยังคงอยู่ แต่เมื่อจะใช้บังคับต้องออกกฎหมายลูกคือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายกฯ ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.และหากยกเลิกประกาศใช้ไปแล้ว ต่อมาเกิดปัญหาแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่สุดก็ไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อีกก็ได้ แต่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้ได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง เพราะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการได้ แต่อาจเกิดความลักลั่นในบางกรณี ดังนั้น อาจจะออกมติ ครม.มาอุดช่องโหว่ในเรื่องตรงนี้ได้ เนื่องจากต้องปฎิบัติตามมติ ครม.ส่วนมาตรการที่จะออกมารองรับนั้น ทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากสถาบันการศึกษา และจากกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพิจารณาด้วย"
นายวิษณุ กล่าวว่าคณะแพทย์ และด้านสาธารณสุข มีการประเมินสถานการณ์การระบาด โควิด-19 ทุกวัน โดยฝ่ายของหมอจะเป็นคนให้คำแนะนำและในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไปถึงเมื่อใด
ทั้งนี้นายกฯ ยึดเงื่อนไขสำคัญที่ในการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือเรื่องความปลอดภัยทางสาธารณสุขต้องเป็นที่วางใจได้ก่อน โดยข้อกำหนดฉบับที่จะออกมามีการระบุคำปรารภเอาไว้ว่าช่วงการผ่อนปรนระยะที่สามเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะในต่างประเทศมีการแพร่ระบาด และมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ และใกล้จะผ่อนคายอาจมีการลองดีลองของ ไม่กลัวหรือชะล่าใจ เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม เดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่ระมัดระวัง หรือกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนไม่ทำตามข้อกำหนด ส่วนคนที่ฝ่าฝืนแม้ถูกจับหรือดำเนินการตามกฎหมาย แต่ก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ มีการติดเชื้อหลังเปิดภาคเรียนก็เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์