มาเจด อัล-อันซารี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางการเจรจา กล่าวเมื่อวันศุกร์ (24 พ.ย.) ว่า มีชาวไทยและชาวฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มตัวประกันทั้งหมด 24 คนที่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ อัล-อันซารีกล่าวว่า กลุ่มคนไทย “กำลังเดินทางออกจากฉนวน (กาซา)” ไปกับทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)
จำนวนชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ ไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในข้อตกลงพักรบระหว่างฮามาสกับอิสราเอล โดยเจ้าหน้าที่ของทางการไทยระบุว่า ข้อตกลงที่ทำแยกกันนี้มีกาตาร์และอียิปต์เป็นสื่อกลางในการเจรจาแยกกันกับทางฮามาส
แนวทางการเจรจาดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เดินทางเยือนกาตาร์เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา นำมาสู่ข้อตกลงเฉพาะกับกลุ่มฮามาสในการปล่อยตัวชาวไทย ทั้งนี้ คนไทยเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดเพียงกลุ่มเดียวที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ระหว่างการเข้าบุกโจมตีของกลุ่มฮามาสในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล เมื่อช่วงวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย โพสต์ก่อนหน้านี้ผ่านทาง X ว่า เขาได้รับการยืนยันการปล่อยตัวพลเมืองไทย 12 คน และทางการไทยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยเดินทางไปรับกลุ่มตัวประกันชาวไทย ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากฮามาสในครั้งนี้
กระทรวงการต่างประเทศไทยแถลงว่า กลุ่มตัวประกันชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ ได้รับการส่งตัวผ่านทางช่องผ่านทางราฟาห์ ตามมมาด้วยการส่งตัวผ่านทางข้ามคาเรม อาบู ซาเลม หรือช่องผ่านทางคาเรม ชาโลม ในภาษาฮีบรู ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของช่องผ่านทางราฟาห์ระหว่างอียิปต์และฉนวนกาซา
กระทรวงการต่างประเทศไทยระบุอีกว่า กลุ่มตัวประกันชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ ได้ถูกส่งตัวไปยังจุดดำเนินการที่ฐานทัพอากาศฮัตเซริม และถูกนำตัวส่งต่อไปยังศูนย์การแพทย์ชามีร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทลอาวีฟ โดย “ในขณะนี้ยังไม่ทราบเพศและชื่อของคนไทยกลุ่มนี้” กระทรวงการต่างประเทศไทยระบุ
พร้อมกันนี้ นอกเหนือจากกาตาร์และอียิปต์แล้ว กระทรวงการต่างประเทศไทยยังขอบคุณอิสราเอล อิหร่าน มาเลเซีย และ ICRC ในการช่วยเหลือเพื่อการเจรจาการปล่อยตัวประกันชาวไทยออกมาจากฉนวนกาซาของกลุ่มฮามาสอีกด้วย
อิหร่านและไทยรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตร และมีคณะเดินทางมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ได้เดินทางไปยังกรุงเตหะรานอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อการหาแนวทางเพื่อการเจรจาในการปล่อยตัวประกันชาวไทยออกมาจากฉนวนกาซาด้วย หลังจากนั้นไม่นาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างไทยกับกลุ่มฮามาส ได้บอกเขาว่าจะมี “ข่าวดีเร็วๆ นี้”
รายงานระบุว่า เชื่อกันว่ามีแรงงานชาวไทยอย่างน้อย 23 คน อยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยฮามาสประมาณ 240 คน ทั้งนี้ การโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ส่งผลให้มีแรงงานชาวไทยเสียชีวิต 32 คน
ทางการไทยระบุว่ามีคนไทยประมาณ 30,000 คนรับว่าจ้างงานส่วนใหญ่ในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล โดยนับตั้งแต่เกิดการโจมตีโดยฮามาส มีแรงงานไทยลงทะเบียนขอเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจแล้วมากกว่า 8,600 คน อย่างไรก็ดี ภายใต้สัญญาว่าจ้างงาน แรงงานไทยในอิสาราเอลสามารถรับค่าจ้างขั้นต่ำได้มากกว่า 5,300 เชเขล (ประมาณ 50,000 บาท) ต่อเดือน ซึ่งมากกว่าค่าจ้างขั้นตำในประเทศไทย 5-6 เท่าตัว
ในการเจรจาการปล่อยตัวประกันอิสราเอล-ฮามาส กาตาร์เป็นผู้นำการเจรจาที่โดดเด่นที่สุดในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกาตาร์ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับสหรัฐฯ และอียิปต์ เพื่อบรรลุข้อตกลงในการปล่อยตัวตัวประกันพลเรือน 50 คนออกจากฉนวนกาซา แลกกันกับการปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ การหยุดยิงชั่วคราว และการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ทั้งนี้ ในการปล่อยตัวประกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีตัวประกันรชาวอิสราเอล ซึ่งรวมถึงผุ้ที่ถือสองสัญชาติ ได้รับการปล่อยตัวจากฮามาสจำนวน 13 ราย
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ให้คำมั่นว่าข้อตกลงปล่อยตัวประกันระหว่างฮามาสกับอิสราเอล จะไม่ถือเป็นจุดสิ้นสุดสงครามของสงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยนายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวว่าอิสราเอลจะยังคงผลักดันเพื่อ “กำจัด” กลุ่มฮามาสต่อไป โดยในแถลงการณ์แรกหลังจากการปล่อยตัวประกันอิสราเอล เนทันยาฮุได้ระบุอีกว่า การกลับมาของตัวประกันอิสราเอลคือ “หนึ่งในเป้าหมายของสงคราม และเรามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดของสงคราม”
เบนนี แกนต์ซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอล กล่าวย้ำในการชุมนุมในกรุงเทลอาวีฟ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับครอบครัวของตัวประกันว่า กองทัพอิสราเอลจะกลับมาสู้รบอีกครั้งหลังจากการหยุดเพื่อมนุษยธรรมชั่วคราวจบลง “ผมอยากให้ครอบครัวของตัวประกันทุกคนมั่นใจว่า เราจะไม่หยุด เราจะกลับมาดำเนินความพยายามและปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซาอีกครั้ง เพื่อนำตัวประกันกลับมาและฟื้นฟูการป้องปราม (อิสราเอล)” แกนต์ซกล่าว
ที่มา: