คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยแพร่เอกสาร ว่าด้วยกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับข้อมูลพบบริษัทแห่งหนึ่งมีการแสดงเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีทุนจดทะเบียนสูงกว่า 300 ล้านบาท เชิญชวนประชาชนทั่วไป ให้สมัครแพ็คเกจลงทุนกับบริษัทซึ่งอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง เพื่อรับเงินปันผลสูงสุดกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งเงินปันผลดังกล่าว เรียกว่า เงินปันผล ROI (Return On Investment) คือ การแบ่งผลประโยชน์จากการร่วมกันลงทุน โดยจะจ่ายเงินปันผล ROI ให้สมาชิกทุกวันศุกร์ จำนวน 95 งวด ซึ่งหลังจากครบ 95 งวด จะมอบหุ้นให้ถือครองตามแพ็คเกจที่จองไว้ และสามารถเลือกที่จะรับปันผลต่อไปหรือขายหุ้นก็ได้ตามความสมัครใจของผู้ลงทุน
โดยการลงทุนแพ็คเกจต่าง ๆ มีตั้งแต่แพ็คเกจลงทุน 1,000 บาท จนถึง 1 ล้านบาท เช่น แพ็คเกจลงทุน 1,000 บาท รับปันผลสัปดาห์ละ 50 บาท ทุกสัปดาห์ จำนวน 95 ครั้ง รวมรับเงินปันผลสูงสุด 4,750 บาท และรับหุ้นสามัญบริษัท 10 หุ้น, แพ็คเกจลงทุน 1 ล้านบาท รับปันผลสัปดาห์ละ 50,000 บาท ทุกสัปดาห์ จำนวน 95 ครั้ง รวมรับเงินปันผลสูงสุด 4,750,000 บาท และรับหุ้นสามัญบริษัท 10,000 หุ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อมั่นกับสมาชิกว่า เงินปันผล ROI ซึ่งจ่ายให้กับสมาชิกรายสัปดาห์ในทุกวันศุกร์ ไม่ใช่ดอกเบี้ย จึงไม่ถือว่าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งเตือนว่า ตามมาตรา 3 ในพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กำหนดว่า "กู้ยืมเงิน" หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ "ผลประโยชน์ตอบแทน" หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายหรือจะจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินเพื่อการกู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจ่ายในลักษณะดอกเบี้ย เงินปันผล หรือลักษณะอื่นใด
ชี้เข้าข่ายการกู้ยืมเงินตามลักษณะการฉ้อโกงประชาชน
ดังนั้น การประกอบธุรกิจตามที่บริษัทดังกล่าวอ้างข้างต้น อันเข้าข่ายเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดในการประกอบธุรกิจว่า จะมีลักษณะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอแจ้งเตือนไปยังประชาชนทั่วไปให้พึงระมัดระวังโดยการลงทุนในรูปแบบดังกล่าว และแจ้งเตือนให้ทราบว่าแชร์ลูกโซ่มักจะมาในรูปแบบของธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ และโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนในระยะสั้นโดยอ้างว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง
โดยใช้วิธีการนำเงินจากผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่จ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าเพื่อให้เห็นว่าธุรกิจสามารถดำเนินการได้จริง ภายหลังที่ระดมทุนได้มากแล้ว จะหยุดดำเนินการและหลบหนีไปพร้อมเงินของผู้เสียหาย ซึ่งจะเกิดความเสียหายลุกลามอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนพึงระมัดระวังในการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยควรศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจก่อนเข้าร่วมลงทุน และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ)