ไม่พบผลการค้นหา
พรรคอนาคตใหม่เรียกร้องผู้มีอำนาจ พิจารณาผังเมืองรวมอีอีซี เหตุประชาชนไม่มีส่วนร่วมและพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ผอ.นโยบายพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนางสาวเบญจา แสงจันทร์ บัญชีรายชื่อและนายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 ของพรรค ร่วมแถลงท่าทีต่อกรณีความเดือดร้อนของประชาชนจากการจัดทำผังเมืองรวม EEC โดยเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างผังเมืองรวม ของคณะกรรมการนโยบาย หรือ บอร์ด EEC ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

ผังเมืองอีอีซี.jpg

ซึ่งมีกำหนดนำเข้าพิจารณาในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. ที่จะถึงนี้ เพราะไม่ได้ศึกษาจากศักยภาพของพื้นที่ตามหลักวิชา, รวมถึงการเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเกษตรกรรมเป็นสีม่วงอุตสาหกรรมและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

โดยนางสาวเบญจา กล่าวถึงนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งประชาชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรีและระยอง ได้รับผลกระทบและได้ทำหนังสือร้องเรียนมาที่พรรคอนาคตใหม่หลายครั้ง อีกทั้ง ส.ส. ของพรรคได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ด้วย ประกอบกับวันที่ 24 ก.ค. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 100 คน ได้เดินทางมาที่รัฐสภาชั่วคราว เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้สำนักงานพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะกรรมการนโยบาย EEC ยุติการพิจารณาเห็นชอบผังเมืองรวม EEC และจัดทำใหม่ตั้งแต่ต้น โดยขอให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำผังด้วย

โดยพรรคอนาคตใหม่เรียกร้องให้ชะลอการเห็นชอบประกาศผังเมือง EEC ด้วยเหตุผล คือ การจัดทำผังเมืองเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามนโยบาย EEC ไม่ได้ศึกษาจากศักยภาพของพื้นที่ตามหลักวิชาการผังเมือง แต่คิดเป็นโครงการไปและการเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเกษตรกรรมเป็นสีม่วงอุตสาหกรรม บางพื้นที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญ และจะเป็นการทำลายวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก

อีอีซี.jpg

นอกจากนี้การใช้ประกาศคำสั่ง คสช. 17/2560 ในการออก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นการใช้กฎหมายเร่งจัดทำผังเมือง โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่การพัฒนาต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ไป ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยและอยากจะมีมาตรการในการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งจะทำให้การพัฒนาของรัฐเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่นางสาวศิริกัญญา ย้ำถึง 3 เรื่อง ที่ต้องชะลอการพิจารณาผังเมืองรวม EEC คือ 1.) มีการดำเนินการที่ขัดหลักการในการทำผังเมืองทั่วไป 2.)​ หลายพื้นที่ที่จะเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะในการทำนิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกษตรชั้นดีหรือพื้นที่ชุ่มน้ำและบางแห่งเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ําซาก จึงมีคำถามว่า การตั้งนิคมอุตสาหกรรมในที่ลักษณะดังกล่าวเป็นไปด้วยเหตุผลใด

3.)​ ไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะหลายครั้งเป็นระดับการชี้แจงหรือแจ้งให้ทราบเท่านั้น เมื่อประชาชนมีข้อกังขาหรือกังวลใจ สำนักงานคณะกรรมการ EEC ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนหายข้องใจได้ โดยพรรคอนาคตใหม่ ยังเตรียมที่จะเสนอ ร่างพ.ร.บ EEC ฉบับแก้ไขเข้าสภาในเร็ววันด้วย


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :