ไม่พบผลการค้นหา
ทีดีอาร์ไอ ประเมินผลงานปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 1 ไม่สำเร็จหลายด้าน เพราะไม่ปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ ม.44 ส่งผลกระทบนโยบายพัฒนาการศึกษาและนโยบายด้านดิจิทัล

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินผลงานปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) ซึ่งมีการประเมินหลากหลายด้าน เช่น ด้านความมั่งคั่ง ซึ่งรวมถึง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคเกษตรและประมง การคมนาคม การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ปัญหาแรงงาน  

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย แม้จะใช้อำนาจเต็มที่ ไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภา แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน เช่น การผลักดันเขตเศรษฐกิจ EEC โครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ รวมถึงการแก้ปัญหา ICAO และ IUU 

แต่มีอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเกิดจากการกำหนดนโยบาย โดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การทำงานที่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องของรัฐบาลยังส่งผลให้แก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น เช่น เรื่องข้าวที่รัฐบาลเข้าใจว่าการลดความต้องการขายข้าวในประเทศลงจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ทั้งที่ราคาข้าวถูกกำหนดจากราคาในตลาดโลก การรวมศูนย์อำนาจ รวมถึงการใช้อำนาจของมาตรา 44 เช่น การยกเลิกการสรรหา กสทช.ชุดใหญ่ โดยต่ออายุชุดเดิม ซึ่งเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระให้อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล และการออก พ.ร.บ.ไซเบอร์ ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อการส่งเสริม “เศรษฐกิจดิจิทัล”

นอกจากนี้ มาตรา 44 ยังกระทบต่อการศึกษา เพราะมีการเปลี่ยนโครงสร้างบุคลากรภายในกระทรวงศึกษาธิการ เกิดปัญหามาตรา 44 ทับซ้อนกฎเกณฑ์เดิม ส่งผลให้การย้ายบุคลากรล่าช้า โรงเรียนขาดครูนานขึ้น อีกทั้งมีการเปลี่ยนหน่วยงานดูแลสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน ทำให้การดูแลและการจัดสรรเงินอุดหนุนล่าช้า 

ส่วนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลพยายาม ออก พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก และพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่มาตรการที่ไม่มีประสิทธิผล เพราะมีจำนวนผู้เสียภาษีน้อย และอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกปรับลดลงหลายครั้ง จนคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มไม่มากอย่างน้อยในระยะแรก ซึ่งแทบไม่มีผลในการลดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปกว่า การดำเนินการหลายอย่างของรัฐบาล ก็อาจมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มด้วย โดยเฉพาะการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ มากกว่าที่จะส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น