นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยประชุมเตรียมความพร้อมก่อนการอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563
สำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่ดี หลักการของพรรคเพื่อไทยมองว่า จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุด ถูกต้องตามสถานการณ์ ชอบด้วยวิธีการงบประมาณ โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันพบว่าจากการทำงานพบว่าวิธีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ของรัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงระยะเวลาในการอภิปรายงบประมาณว่า กรอบเวลายังยืนยันเป็น 20 ช.ม. ส่วนรัฐบาลจะเอาเท่าใดก็แล้วแต่ ทางพรรคฝ่ายค้านก็มีเหตุผลที่แสดงถึงจำนวนผู้ที่จะอภิปรายและเนื้อหาสาระ เท่าที่คุยกับทางรัฐบาลก็ดูว่ามีท่าทีอ่อนลงเชื่อว่ารัฐบาลจะเข้าใจฝ่ายค้านและคาดว่าน่าจะได้ 20 ช.ม.
ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องให้ประธานสภาตัดสิน แต่เชื่อว่าประธานจะดูจำนวนคนที่จะอภิปรายเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมีความคิดเห็นที่ตรงกันอยู่แล้วคือ 3 วัน เพียงแต่ว่ารัฐบาลอยากเลิก 20.00 น. แต่ฝ่ายค้านต้องการเลิกเที่ยงคืนอย่างที่เคยปฏิบัติทั้ง 3 วันถ้าได้ตามที่ต้องการทั้ง 3 วันก็จะจบ
ซึ่งสภาได้ส่งกำหนดการมาให้ในวันแรกเริ่ม 9.30 น. ซึ่งจะเป็นเรื่อง พ.ร.ก. ก่อนและน่าจะเสร็จประมาณเที่ยง หลังเที่ยงจะเป็นเรื่องงบประมาณและจะไปจบที่ 19.00 น. ทั้งหมดก็จะประมาน 2 วันครึ่ง
ส่วนผู้อภิปรายของพรรคเพื่อไทยได้เตรียมระบบคล้ายลูกเสือ จะมีผู้อภิปรายทั่วไปและจะมีนายหมู่ลูกเสือ หมายถึงจะมีผู้อภิปรายหลักหรือนายหมู่ในหมวดใดหมวดหนึ่ง เพื่อเน้นย้ำในแต่ละเรื่องซึ่งก็จะเสริมเป็นระยะๆ และสุดท้ายก็จะมีคนสรุป
ซึ่งนายหมู่ มี 11-12 คน เช่น น.พ.ชลน่าน นายจิรายุ นายศรัณย์วุฒิ ซึ่งจะดูคนละเรื่อง ส่วนมหาดไทยกับกลาโหมนั้น จริงๆ วันนี้จะมีการประชุม เพื่อแจกรายละเอียด ด้านกลาโหมอาจจะเป็นสงวน พงษ์มณี หรืออาจจะเป็นนายพิเชษฐ์
สำหรับหลักการที่ใช้เป็น กรอบในการพิจารณางบประมาณคือ 1.ใช้งบประมาณทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเงินหรือไม่ หรือเอาไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร 2.ใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาประเทศตรงจุดหรือไม่ ตอบโจทย์ประเทศตอบโจทย์ประชนชนหรือไม่ 3.ได้ใช้งบประมาณไปตามหลักระเบียบวิธีงบประมาณตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านดูเป็นรายจุดหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายมีไว้กำกับเพื่อให้รัฐบาลไม่ใช้เงินตามใจชอบและเพื่อป้องกันการทุจริต และ 4.งบประมาณที่จัดโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ เพราะฉะนั้น ขั้นรับหลักการ 4 ข้อวาระแรก จะต้องถามรัฐบาลและรัฐบาลจะต้องตอบ
ทั้งนี้ หากฝ่ายค้านไม่ลงมติให้ จะถูกตี ความว่าเป็นการถ่วงความเจริญหรือแกล้งรัฐบาลหรือไม่นั้น เชื่อว่าในการอภิปรายครั้งนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เพราะฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นจุดบกพร่องชัดเจน แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมรับ หรือไม่มีท่าทีที่จะไปแก้ไข จนฝ่ายค้านคว่ำ ก็คิดว่าสังคมจะเข้าใจ
ซึ่งการคว่ำนี้ไม่ใช่การเสียโอกาส แต่เป็นการนำกลับไปทำใหม่และนำเข้ามาใหม่ก็ยังทัน ในระหว่างที่ทำมาใหม่รัฐบาลก็ยังใช้เงินได้อยู่ ซึ่งกฎหมายใหม่นี้รัฐบาลสามารถใช้เงินล่วงหน้าได้อยู่ เพราะฉะนั้นไม่กระทบ ถ้า พ.ร.บ.ตก รัฐบาลก็รีบไปทำใหม่ก็เสนอใหม่ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
ฉะนั้นการที่จะบอกว่าฝ่ายค้านจ้องจะล้มหรือทำให้ประเทศเสียโอกาสหรือไม่ อยู่ที่การอภิปรายใน 2-3 วันนี้ แต่ถ้าอภิปรายชี้ให้เห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจน และรัฐบาลก็ยังไม่รับฟัง แล้วฝ่ายค้านยังปล่อยให้ผ่าน ก็กลัวว่าประชาชนจะหาว่าไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชนนี่ต่างหากที่น่าห่วง
วันนี้ฝ่ายค้านไม่ต้องการจะล้มรัฐบาลไม่ต้องการเอางบประมานมาเล่นเกมส์การเมือง เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าถ้ารัฐบาลชี้แจงได้ แล้วยอมรับที่จะเอาข้อบกพร่องที่ฝ่ายค้านชี้ไปแก้ไข ฝ่ายค้านก็อาจให้ความร่วมมือ แต่มีข้อแม้ว่ารัฐบาลต้องเปิดใจให้กว้างแล้วยอมรับ แต่ถ้าไม่เปิดใจให้กว้างและไม่ยอมรับ อย่างไรก็ให้ผ่านไม่ได้ ทั้งนี้ถ้าชี้แจงได้ก็ให้ผ่านอยู่แล้ว
ด้านของฝ่ายค้านอิสระนั้นมองว่าคงไม่มีอีกแล้ว เพราะไม่ได้แสดงตัวว่าอิสระ และไม่ได้ติดต่อมาที่ฝ่ายค้านเพื่อขอเวลาอภิปราย แต่ถ้าจะขอเวลาคงจะต้องติดต่อทางสภาเอง ส่วนงูเห่าเชื่อว่าเพื่อไทยไม่มีและไม่มีใครแหกมติพรรค
อย่างไรก็ตามไม่มีใครให้จับตาเป็นพิเศษเพราะอยากให้ดูที่สาระที่มีบางข้อบางหมวดที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้ เรื่องงบลับก็ติดใจทุกรัฐบาล และงบกลางก็ติดใจเพราะสูงกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาถ้ามีการอ้างว่า งบกลางเกี่ยวกับภัยพิบัตินั้น มองว่างบภัยพิบัติควรเป็นงบประจำได้แล้ว เพราะอย่างไรก็ตามประเทศไทย ก็ต้องเกิด
การจัดสรรงบในครั้งนี้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่ ฝ่ายค้านน่าจะชี้ให้ประชาชนได้เห็น ซึ่งในวันนี้ ไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะส่วนใหญ่เป็นงบประจำ ส่วนงบลงทุนแก้ปัญหาเศรษฐกิจจริงๆ มีน้อยและไม่พอ
นักกิจกรรมเรียกร้องให้ ส.ส. งดออกเสียง ในการอนุมิติ พ.ร.ก. เป็นมุมมองของส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องรับฟัง ส่วนจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ต้องไปดูเหตุผล ซึ่งขณะนี้ในส่วนของพรรค ยังไม่มีการหารือกัน ยอมรับว่า พ.ร.ก. นี้มาเร็ว และจะมีมติของพรรคออกมาได้ทัน
สุดารัตน์ ติวเข้ม ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายงบประมาณ สอนมวยรัฐบาล จัดงบไม่ตอบโจทย์
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าเราเห็นว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญมีปัญหา ทั้งการส่งออกที่ติดลบ 8 เดือน การท่องเที่ยวชะลอตัว การลงทุนของเอกชน ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศ ตกต่ำอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน และการเก็บภาษีลดลง เรายังเหลือเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายเรื่อง การใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน ใหัพอที่จะทำให้ประชาชนพออยู่รอดได้ ซึ่งมีความหวังอยู่อันเดียว คือการใช้จ่ายภาครัฐ
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่ารัฐบาลไม่มีฝีมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราคิดว่าความหวังเดียว คือการใช้จ่ายภาครัฐ การจัดงบประมาณครั้งนี้ จึงมีความสำคัญมาก และต้องตอบโจทย์ แก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องใช้งบประมาณ ถูกทิศถูกทาง ต้องใช้งบประมาณ ไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส
เราดูตัวเลขแล้วเราห่วงงบประมาณ ที่เพิ่มขึ้น 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มมา 2 แสนล้านบาท แล้วยังตัองเอาไปใช้หนี้เงินคงคลัง เอาไปใส่ในงบกลาง และอีกส่วนไปเพิ่มในกระทรวงความมั่นคง ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม 2 กระทรวงกว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง 2 กระทรวง ถือเป็นการไปเพิ่มในส่วนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเลย ไปใช้หนี้ กับเพิ่มงบความมั่นคง และเพิ่มงบกลาง ก็ไม่ตอบโจทย์
“ในขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือนำเงินไปลงทุน แต่รัฐบาลนี้กลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ปรับลดเงินลงทุนจาจากปีที่แล้ว 21 % เหลือ 20 % มีเพียง 6 แสนล้านบาท เมื่อไปดูในรายละเอียดแล้ว เป็นงบลงทุน ที่ผูกพันจากการซื้ออาวุธฯ เช่นเรือดำน้ำ ติดต่อกันในหลายปีที่ผ่านมา ประมาณ 45% จึงเหลืองบลงทุน แค่ 55 % แบบนี้ก็ไม่สามารถ นำ 3 แสนกว่าล้านไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หมุนเวียนให้เกิดการจ้างงานได้อย่างไร
ดังนั้นในการอภิปรายของพรรคเพื่อไทย จะชี้ให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่ตอบโจทย์ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เราจะชี้ให้เห็นว่าการจัดแบบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าดิ่งเหว ไม่มีตรงไหนที่เพิ่มกำลังซื้อ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสร้างความพร้อมในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง ไม่สามารถที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้
คุณหญิงสุดารัตน์ ห่วงด้วยว่า ในปีหน้าการจัดงบประมาณแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ ฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทยจะทำหน้าที่ด้วยความรู้ เพื่อชี้แนะว่าจะจัดงบประมาณอย่างไรให้ตอบโจทย์ จะชี้แนะให้รัฐบาลได้ฟังว่า การใช้งบประมาณที่มีอยู่น้อยนิดแล้วแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั่นทำอย่างไร ถ้ารัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยน แล้วยังเน้นไปเพื่อทำงบประมาณเพื่อความมั่นคง ก็น่าห่วง
“เราต้องบอกรัฐบาลว่า การอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพื่อเอาชนะคะคานกัน แต่เอาชีวิตประชาชนเป็นเดิมพันขอให้รัฐบาลได้ฟังการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง นำไปแก้ไขนำไปปรับปรุงงบประมาณ เพื่อตอบโจทย์ประชาชน อย่าแก้ไขเศรษฐกิจเพื่อบางพรรค บางคน”