บุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) แถลงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการนำรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปปิดถนนเพื่อกีดขวางผู้ชุมนุม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำหนังสือถึง ผอ.ขสมก. และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แล้วแต่ก็ยังมีประเด็นนี้เกิดขึ้น โดย ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการรับขนคนโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจากกรณีนี้จะทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.เข้าร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
ทั้งนี้ข้อมูลที่ตำรวจได้ขอการสนับสนุนนำรถเมล์ไปสกัดผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวน 121 คัน แบ่งเป็น วันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน และ วันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน ทำให้รถเมล์ได้รับความเสียหายทั้งหมด 6 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค. จำนวน 1 คัน, วันที่ 25 ต.ค. จำนวน 2 คัน และ วันที่ 8 พ.ย. จำนวน 3 คัน โดยได้รับความเสียหาย ทั้งกระจกบังลมหน้าแตกเสียหาย สีถลอก และที่ปัดน้ำฝนชำรุด ส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมแซมรถที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะรถเมล์มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี อะไหล่ เริ่มหายากและใช้เวลาในการนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายทั้งหมด รวมทั้งค่าเสียหายอื่นๆ ที่ระบุตามสัญญาปัจจุบันของ ขสมก. ที่ต้องจ่ายค่าเหมาซ่อมในราคา 1,401 บาทต่อคันต่อวัน ค่าจีพีเอส 30 บาทต่อคันต่อวัน ค่า PSO ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในการเดินรถกิโลเมตรรละ 38 บาทต่อคัน ค่าจ้างพนักงาน 800 บาทต่อวัน รวมทั้งค่าเสียหายที่จะได้จากค่าโฆษณา โดยรวมการเสียโอกาสในการเดินรถมากกว่า 363,000 บาท
“ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ตำรวจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ชุมนุม ตำรวจเป็นผู้ขอความร่วมมือให้ สนับสนุนรถเมล์ทั้งหมด และหนังสือที่ขอความร่วมมือตำรวจจะต้องดูแลทรัพย์สินขององค์การ เพราะฉะนั้นตำรวจจะเป็นต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย และหากยังไม่หยุดสหภาพฯ จะใช้กระบวนการทางศษลเพื่อขอคุ้มครองไม่ให้นำรถเมล์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์” บุญมา กล่าว
ทั้งนี้ ประธานสหภาพฯ ขสมก. ระบุว่า รายละเอียดทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริการกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือ คณะกรรมการบอร์ดขสมก. เพื่อให้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการเรียกร้องค่าเสียหายจะเป็นองค์กรเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น ไม่สหภาพฯ ไม่สามารถดำเนินการได้เอง แต่หากบอร์ดฯ ขสมก. ไม่ดำเนินการข้างต้น หรือเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จะเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลให้เอาผิดกับคณะกรรมการบอร์ดทั้งหมดด้วย