เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 63 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย เครือข่ายองค์กรภาคี และโครงการ Voice for Mekong Forest (V4MF) ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ได้ร่วมการจัดเวที People and Forest Forum 2020 ซึ่งมีวาระคน ป่าไม้ และโลกร้อน ณ สวนครูองุ่น มาลิก สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวาระประจำปี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ ชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐประเทศและตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอความสำคัญของป่าไม้ และบทบาทของการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในการผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี 2030
“ในมุมของภาคประชาสังคมและผู้หญิง ปัจจุบันกว่าสี่หมื่นชุมชนในเขตป่าได้รับผลกระทบจากการจัดการ และกลุ่มผู้หญิงมักได้รับผลกระทบ ได้รับความไม่เป็นธรรมทางกฎหมาย ถูกดำเนินคดีกว่าสี่หมื่นคดี จึงต้องให้สิทธิและสร้างความมั่นคงให้ชุมชนในพื้นที่ป่า ถ้าขาดสิ่งนี้ก็ไม่มีธรรมาภิบาล ลดความเหลื่อมล้ำได้ พ.ร.บ.หลายตัวขาดกระบวนการมีส่วนร่วมและไม่รับรองสิทธิชุมชนเลย ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล พวกเราก็พร้อมจะสร้างและเห็นความบอบช้ำของอดีต ซึ่งไม่อยากอยู่ในสภาพเดิม เครือข่ายผู้หญิงก็ยินดีร่วมสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ไทย” อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวในตัวแทนของภาคประชาสังคม
ปีร์กะ ตาปีโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึง บทบาทและความตระหนักของสหภาพยุโรปที่มีต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสหภาพยุโรปได้มีประกาศการแผนยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “The European Green Deal” ซึ่งจะทำให้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้กลายเป็นโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีการกำหนดให้สหภาพยุโรปเป็นทวีปที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral รวมถึงการมุ่งเน้นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนการยุติการค้าไม้เถื่อน ผ่านการทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ เฟล็กที ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมการจัดทำข้อตกลงนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นกลไกสำหรับในการยกระดับมาตรฐานการจัดการป่าของประเทศไทย”
สตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดน ประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่จะปกป้องป่าได้นั้น ต้องมีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิในที่ดินของชุมชน โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิง ซึ่งยังถือว่ายังมีบทบาทจำกัดในการตัดสินใจเรื่องทรัพยากร รวมถึงพวกเราต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ เราต้องฟังเสียงของพวกเขาให้มากขึ้น สุดท้ายทางด้านคุณเฮเลน บัดลิงค์เจอร์ ฮาร์ททีดา เอกราชทูตสมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทยกล่าวย้ำสุดท้ายว่า สิ่งที่พวกเราต้องทำคือการลงมือทำทันที ไม่ว่าจะเป็นการรักษาป่าไม้ และการปลูกป่าเพิ่ม เพราะป่าไม้จะทำหน้าที่ปกป้องพวกเราทุกคน
ซึ่งเวทีคน ป่า และโลกร้อน ยังมีกิจกรรมและวงเสวนาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โลกร้อนและการเปิดตัว “พลเมืองสร้างป่า” (24-25 ม.ค. 63) ซึ่งเป็นกิจกรรมการปลูกป่าที่เน้นการสร้างป่าจากเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เพื่อเป็นปฏิบัติการสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยการลงมือทำได้ทันที ดังนั้นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนได้นั้นต้องมีระบบการบริหารจัดการป่าไม้ที่มีธรรมภิบาลที่ดี