ไม่พบผลการค้นหา
องค์ประชุมสภาฯล่ม! ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ประท้วงรัฐบาลเสนอญัตติขอให้นับคะแนนขานชื่อรายบุคคลใหม่ในญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบประกาศ-คำสั่ง คสช. ตาม ม.44 หลังผลโหวตรอบแรกรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้าน 234 ต่อ 230 เสียง ด้านฝ่ายค้านจวก 'ชวน' ไม่เป็นกลาง ด้านประธานสภาฯ แจงตัวเองต้องทำให้สภาเคารพกฎหมาย

เวลาประมาณ 17.00 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณา ญัตติด่วน เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ตามที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่และคณะเป็นผู้เสนอ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่าถ้ายังไม่ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.เราก็ควรทำความเห็นให้ยกเลิก ถ้าฉบับไหนยกเลิกไปแล้ว ยังมีผู้ได้รับความเสียหายเราก็ควรหามาตรการเยียวยา จึงเห็นว่า ถ้ามี กมธ.ชุดนี้จะเป็นประโยชน์สามารถให้ ส.ส.เข้ามาแบ่งสัดส่วนถึง 37 - 40 คน ทั้งนี้มีการอภิปรายว่า ประกาศ คำสั่ง คสช. ยกเลิกหลายฉบับ และหลงเหลือนิดเดียว แต่มีอีกหลายฉบับยังไม่ได้ยกเลิก ส่วนที่ยกเลิกไม่ได้หมดสิ้นไป แต่มีเงื่อนแง่ปมทางกฎหมาย ส่วนยกเลิกก็ยกเลิกแล้วไม่มีเงื่อนไข 61 ฉบับ แต่มันยกเลิกไปแล้วผลร้ายเกิดขึ้นโดยเฉพาะคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย คำสั่งปลดองค์กรอิสระ แต่งตั้งองค์อิสระ คำสั่งละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชน และมีหลายฉบับยังไม่ถูกยกเลิก

นายปิยบุตร ระบุว่า การตั้ง กมธ.ชุดนี้ จะช่วยแสดงออกจัดการความเชื่อความคิด "อวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล" เรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วให้จบไปแล้วอย่ารื้อฟื้น เรื่องปรองดองให้เลิกแล้วต่อกัน แม้เรื่องที่เกิดขึ้นกระทำผิดกฎหมายสูงสุด ด้วยการใชอ้ำนาจเผด็จการ คนที่จะใช้อำนาจก่อการรัฐประหาร ถ้าทำแล้วก็ไม่มีผลร้ายก็นิรโทษกรรมตัวเอง ทำไปแล้วไม่ต้องรับผิดรับโทษเพราะความคิดแบบลอยนวลพ้นผิด ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในวงจรอุบาทว์วนเวียนการรัฐประหารซ้ำซาก ตัวอย่างในในประเทศที่เคยผ่านรัฐประหารมาหลายครั้งแต่ปัจจุบันไม่มีการรัฐประหาร เช่น ตุรกี เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา เคยมีรัฐประหารแต่ปัจจุบันไม่มีรัฐประหารแล้ว เพราะเขาไม่ยอมให้มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีก ใครละเมิดสิทธิเสรีภาพต้องสอบสวนและมีรายงานศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนในรุ่นต่อๆ ไป

ปิยบุตร ed.png

'ปิยบุตร' วอนสภาล้างมรดกบาป คสช. ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา ม.44

นายปิยบุตร ระบุว่า การลงมติตั้ง กมธ.วิสามัญเรื่องนี้ จะเป็นหมุดหมายของสภา รัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ครองอำนาจมา 5ปี เราไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีผู้แทน เราไม่มีปากมีเสียง คสช. ดำเนินการละเมิดสิทธิเสรีภาพกระทบกับประชาชนหลายเรื่อง แต่วันนี้เรามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นมาแล้ว แม้จะมีรัฐบาลเหมือนสืบทอดอำนาจ แต่เรามีสภาแห่งนี้เป็นสภาชุดแรกจากการเลือกต้ังหลังการรัฐประหาร เรามีสภาฯ ผู้รับมอบอำนาจจากประชาชน ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศไทย

"ผมไม่เห็นเหตุผลอันใดที่สภาแห่งนี้จะปฏิเสธไม่ใช้อำนาจแทนราษฎรเพื่อเริ่มต้นจัดการมรดกบาปของคณะ คสช. สภาแห่งนี้นิ่งเฉยปล่อยผ่านไป ผมเรียนถามตรงๆ ว่าเราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เมื่อเราไปพบปะพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจของ คสช. หากสภาแห่งนี้นิ่งเฉยปล่อยผ่าน พวกเราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนเมื่อท่านกลับไปพบพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของท่านที่เป็นฐานคะแนนท่านเลือกท่านมา" นายปิยบุตร ระบุ

สภาป่วน รัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้าน 4 เสียง วิปรัฐบาลชงญัตตินับคะแนนใหม่

โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นด้วย 234 ต่อ 230 เสียงให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 โดยมีผู้งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งผลการลงมติครั้งนี้รัฐบาลต้องแพ้เสียงโหวตฝ่ายค้านกลางสภาฯอีกครั้ง

สภาล่ม ญัตติ กมธ มาตรา 44 ฝ่ายค้านชนะ 27 พย 62 led.jpg

จากนั้นนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เสนอต่อที่ประชุมให้มีการขานคะแนนใหม่อีกครั้งตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 85 ซึ่งระบุไว้ว่าถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับคะแนนใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกโดยให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน เช่นเดียวกับนายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ก็ขอให้ที่ประชุมขานคะแนนใหม่ เพราะการลงมติในญัตตินี้คะแนนแพ้กันเฉียดฉิว มีการผิดพลาดทางบัตรลงคะแนน จึงขอให้นับคะแนนใหม่ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ 

รุมถล่ม 'ชวน' ไม่เป็นกลาง ด้านประธานสภาฯ แจงฝืนข้อบังคับฯไม่ได้

ทำให้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านต่างลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลที่ขอให้นับคะแนนใหม่ และมองว่าสภาฯแห่งนี้กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า ตามข้อบังคับการประชุมฯ เมื่อลงมติว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยสามารถตรวจจากใบลงคะแนนได้ ไม่ใช่มาเปลี่ยนใจลงคะแนนใหม่อย่างนี้ทุกครั้ง

แต่นายชวน มองว่าเป็นสิทธิของฝ่ายรัฐบาลที่เสนอญัตติ ถ้ายืนยันก็ต้องเดินหน้าลงมติแบบขานชื่อรายบุคคล

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ประท้วงประธานสภาฯ ที่จะขอให้ที่ประชุมสภาฯ ขานคะแนนใหม่อีกครั้งตามข้อบังคับฯ วันนี้มีการถ่ายทอดสดทั้งประเทศ ตอนนี้ได้มีการตรวจชื่อและให้โอกาสลงมติแล้ว ไม่มีอะไรผิดพลาดเมื่อฝ่ายรัฐบาลแพ้แล้วให้ลงคะแนนใหม่ ตนไม่เห็นด้วย

โดยนายวิรัช ยืนยันในญัตติที่เสนอให้มีการลงคะแนนใหม่ด้วยการขานชื่อ ท่ามกลางการประท้วงของฝ่ายค้าน โดยนายชวน ได้พยายามตัดบทฝ่ายค้านพร้อมยกข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ประธานสภาฯต้องดำเนินการตามข้อบังคับฯ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านได้ประท้วงนายชวนว่าไม่มีความเป็นกลาง

จากนั้น นายชวน ชี้แจงว่า "ผมต้องทำตัวเป็นกลางไม่มีสิทธิฝืนข้อบังคับ ขอให้ยึดมั่นในข้อบังคับ ผมไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น อยากให้สภาเป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย อย่าคิดว่าผมไม่เป็นกลาง ถ้าไม่เป็นกลางผมอยู่ไม่ได้ ผมมาจากพรรคที่เสียงข้างน้อย ขอให้สมาชิกมั่นใจผมยึดมั่นข้อบังคบการประชุม"

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า ถ้าประธานสภาฯ ทำเช่นนี้จะเป็นตัวอย่างไม่ดี แม้ผลที่ประชุมสภาฯ จะต่างกันเพียง 1 คะแนน เราไม่เคยนับใหม่ แต่ถ้าประธานสภาจะวินิจฉัยเมื่อมีผู้เสนอให้นับใหม่ ด้วยการนับใหม่ด้วยการขานชื่อ จึงไม่อยากเห็นคนประณามสภาฯ

"ประเด็นนี้ไม่ใช่ความเป็นความตาย รัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว เกรงว่าจะเป็นตัวอย่างไม่ดี ถ้ามีการนับคะแนนใหม่ด้วยวิธีนี้" นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ

ประชุมสภา-ประท้วง-ม.44

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงนายชวน เพราะฝ่ายค้านเห็นว่ายังไม่มีผู้รับรองให้นับคะแนนใหม่ ถ้ามีการลงมติด้วยการขานชื่อรายบุคคล ดังนั้นเมื่อที่ประชุมมีมติแล้ว ถ้าหากจากนี้ไปฝ่ายค้านลงมติแล้วแพ้จะต้องนับคะแนนใหม่ทุกครั้งตามข้อบังคับฯได้หรือไม่

ทั้งนี้ ระหว่างที่นายชวน พยายามชี้แจงโดยขอให้ที่ประชุมสภาฯ เดินหน้าตั้งกรรมการนับคะแนนการ เพื่อลงมติแบบขานชื่อนั้น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ต่างลุกขึ้นยกมือประท้วงนายชวน พร้อมตะโกนส่งเสียงคัดค้านการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ

ทำให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอหารือต่อที่ประชุมสภาโดยขอให้พักการประชุม 5 นาทีเพื่อหารือกันอีกครั้ง โดยนายชวน เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวและสั่งให้พักประชุมเป็นเวลา 15 นาที 

สภาล่ม! ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ประท้วงรัฐบาลไม่ถอนญัตตินับคะแนนใหม่

กระทั่งเวลา 19.00 น. การประชุมเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ภายหลังที่ประชุมสภาฯ ใช้เวลาพักประชุม 1 ชั่วโมง โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย หารือต่อที่ประชุมว่า สภาแห่งนี้น่าจะทำงานด้วยดีด้วยการถอนญัตติที่เสนอให้นับคะแนนแบบขานชื่อเป็นรายบุคคลตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 85 การใช้ข้อบังคับฯ ข้อที่ 85 แต่ตอนนี้มีเสียงข้างน้อย 244 เสียง และเสียงข้างมาก 254 เสียงห่างกันเพียง 10 เสียง ดังนั้น ทุกมติจะมีเสียงไม่เกิน 25 คะแนนแน่นอน ดังนั้นในอนาคตจะใช้ข้อที่ 85 มานับคะแนนใหม่ทุกครั้ง โดยเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมากก็เสนอข้อที่ 85 ได้ ดังนั้นหากจะใช้ควรใช้ด้วยความเหมาะสม ไม่ควรใช้ทุกกรณี จึงขอเรียนกับฝ่ายเสียงข้างมาก ถ้าจะทำงานกันด้วยดี เราต้องปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

"หากขานชื่อทุกครั้งสภาจะไม่เป็นที่นิยม สภาจะเสียหาย" นพ.ชลน่าน ระบุ  

นพ.ชลน่าน ระบุว่า "ผมอยากขอความกรุณาไปถึงซีกเสียงข้างมาก เราอยากทำงานร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะนับคะแนนแบบนี้ตลอดไป เพราะเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว ถ้าวันนี้ไม่ได้รับความกรุณาจากประธานสภาและฝ่ายเสียงข้างมาก ผมจะไม่อยู่ร่วมการประชุมสภา ผมไม่อยากทำอย่างนั้น ท่านผู้นำฝ่ายค้านฯแนะนำมา ผมจำเป็นต้องนำเสนอ"

ขณะที่ นายวิรัช ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า ผลคะแนนที่ออกมามีหลายคนลงมติแล้วตรงกันข้าม การทำงานในระบบวิปรัฐบาลครั้งนี้ เราทำด้วยความละเอียดรอบคอบและตรวจสอบมาตลอดไม่ได้ต้องการชนะคะคาน แต่เราอยากเห็นในส่วนของรัฐบาลเมื่อเป็นมติของวิปรัฐบาล แต่ถ้ามีพรรคหนึ่งพรรคใดไม่ปฏิบัติก็จะได้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น 

จากนั้น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านต่างทยอยวอล์คเอาท์ด้วยการเดินออกจากห้องประชุม เพื่อคัดค้านการเดินหน้าใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯข้อที่ 85 โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติขอนับองค์ประชุม

ที่สุดที่ประชุมสภาฯ มีสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมเพียง 92 คน จากจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ 499 คน จึงถือว่าองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง ทำให้สภาฯล่ม โดยนายชวน ได้สั่งปิดประชุมทันทีพร้อมแจ้งให้พิจารณาญัตติดังกล่าวต่อในวันที่ 28 พ.ย.นี้ 

ปชป.เทเสียงให้ฝ่ายค้าน พลิกชนะรัฐบาล

สำหรับเสียงข้างมากที่เห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญนั้น เป็นเสียงของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่ง อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเป็นผู้เสนอญัตติด้วย ขณะที่เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นชอบให้ตั้งนั้นเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีผู้งดออกเสียง 2 เสียง คือ นายชวน และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง